หลังจากที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อญี่ปุ่น ประกาศกลับไทย พร้อมรับโทษจำคุกในไทย แลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว พร้อมกล่าวว่า “ตอนนี้ผมติกคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าผมต้องไปทนทุกข์ในคุกเล็กอีกก็ไม่เป็นไร แม้มันไม่ใช่ราคาที่ผมจำเป็นจะต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพราะผมอยากอยู่กับหลานๆ ผมควรใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูกๆ หลานๆ” 

‘ทักษิณ’ เปิดใจสื่อนอกพร้อมกลับมาติดคุกไทย-อยากใช้ชีวิตกับครอบครัว

จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว สร้างความสนใจให้กับประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงพาทุกคนไปย้อนคดีที่นายทักษิณ ถูกคำพิพากษา ว่ามีคดีใดบ้าง ที่รอต้อนรับเขาหากกลับมาประเทศไทย

1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดิน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 51 โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) โดยศาลเห็นว่า นายทักษิณ สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น

4. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

นอกจากนี้ยังมีคดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. เช่น คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น..