เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้เป็นประธานเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ “การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active learning สำหรับเด็กปฐมวัยด้วยแนวคิดมอนเตสซอรี” เพื่อพัฒนาครูให้สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรีระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ตามบริบท สพฐ. ได้อย่างมีคุณภาพ และพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน นิเทศ ติดตามการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรีระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ตามบริบท สพฐ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษาและครู จากโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาและเครือข่ายฯ สังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 1-4 อุทัยธานี เขต 2 และสุพรรณบุรี เขต 3 รวม 6 สพป. 19 โรงเรียน จำนวน 86 คน เข้าร่วมการอบรม ณ โรงเรียนวัดปรังกาสี อำเภอทองผาภูมิ สพป.กาญจนบุรี เขต 3 จังหวัดกาญจนบุรี
.
รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดอบรมในวันนี้มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ มีสื่ออุปกรณ์ในการฝึกอบรมครบถ้วน และมีวิทยากรที่ผ่านการอบรมการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี (Montessori) ระดับปฐมวัย หลักสูตรมาตรฐานสากล จากสมาคมมอนเทสซอริสากล (Association Montessori Internationale : AMI) ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างดี โดยการจัดการเรียนรู้ตามที่นำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเด็กได้จริง เช่น หมวดชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมภายในบ้านกับห้องเรียน เป็นกิจกรรมที่อยู่ในบ้าน เช่น การเช็ด การล้าง การติดกระดุม การร้อย การถู การซักผ้า การกวาด การรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้จนมีความชำนาญของทักษะจะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กในด้านวินัย ความเป็นระเบียบ การมีสมาธิและความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้มาช่วยเหลืองานบ้านและการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งครูมีความสามารถในการนำสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาปรับประยุกต์เพื่อการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ตามแนวคิดมอนเตสซอรี ทำให้ เด็กเกิดการเชื่อมโยงความรู้ในชั้นเรียนกับชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความรู้ที่คงทน เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ ตลอดจนช่วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนั้น การเรียนแบบคละอายุ ระหว่างเด็ก 3-6 ขวบ ยังเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองวุฒิภาวะของเด็กเป็นรายบุคคลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
.
ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนา ที่พร้อมทั้งวิทยากร สื่อ อุปกรณ์ ความพร้อมในการไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาครบอย่างรอบด้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขอขอบพระคุณ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีประจำโครงการขับเคลื่อนโรงเรียนกองทุนการศึกษาพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการสร้างคนดีสู่สังคม พัฒนานักเรียนชั้นปฐมวัยให้มีความพร้อมและมีพื้นฐานที่ดีในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงมีแนวนโยบายในการพัฒนานักเรียน ในระดับปฐมวัย ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ขึ้น นำมาซึ่งการจัดอบรมการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวความคิดมอนเตสซอรีในครั้งนี้ โดยได้จัดหาทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการฯ พร้อมทั้งจัดซื้อและจัดหาสื่ออุปกรณ์มอนเตสซอรี มอบให้กับทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานในการดำเนินการอบรมพัฒนาดังกล่าวขึ้น
.
“สำหรับการดำเนินการต่อไป เมื่อโรงเรียนได้รับการอบรมที่สมบูรณ์ตามหลักสูตรแล้ว สพฐ. จะได้ประสานศูนย์มอนเตสซอรี ภาคกลาง โรงเรียนวัดด่านช้าง สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 เพื่อนิเทศ ให้คำปรึกษาทางวิชาการ และจะนำรายชื่อโรงเรียนเข้าสู่ทำเนียบ เพื่อรับการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิดมอนเตสซอรี พร้อมกันนั้น สพฐ. จะได้ติดตามความสำเร็จของโครงการ เพื่อสร้างปรากฏการณ์ “การศึกษาไทย ไกลแค่ไหนก็ไปถึง” ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตนเองได้ หากเราร่วมทำไปพร้อมกันก็จะเกิดประโยชน์ต่อการยกระดับการศึกษาทั้งระบบ เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นรากฐานการสร้างคนดีสู่สังคม เป็นต้นทางที่จะทำให้การศึกษาไทยมั่นคงได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องร่วมกันพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่ดีทุกด้าน มีความพร้อมและมีพื้นฐานที่ดีในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จึงขอให้คณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และครูที่ได้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยของ สพฐ. ได้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว