เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าในการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ว่า กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อให้คนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึงการมีวิทยากรจาก กกต. บรรยายให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์แก่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย/สถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เกิดความเรียบร้อยและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีความโปร่งใส รวมถึงป้องกันความผิดพลาดต่างๆ

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ในการเตรียมพร้อม มีทั้งการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง การจัดคูหาเลือกตั้ง การเตรียมการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง การประสานงานกับไปรษณีย์และสายการบิน ตลอดจนสนามบิน รวมทั้งการเดินทางของกรรมการ กกต. เพื่อไปตรวจเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยราบรื่น มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากสภาพและข้อจำกัดในแต่ละภูมิภาค อาทิ กรณีที่คณะ กกต. ไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อตรวจสอบระบบและขั้นตอนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทย ไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทยเหมือนกับในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ส่วนการที่คณะไปแอฟริกาใต้ เคนยา และโมร็อกโก เพื่อตรวจเยี่ยม หารือ และติดตามการเตรียมการจัดการเลือกตั้งฯ เพราะแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ และการคมนาคมขนส่งค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งได้มีการหารือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการไม่มีเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาไปประเทศไทย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนการที่คณะ กกต. ไปภูมิภาคยุโรปและอเมริกา เป็นการตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการลงคะแนน และพบปะชุมชนคนไทย พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาวิธีแก้ไข เพราะมีชุมชนคนไทยขนาดใหญ่และมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกทั้งบางพื้นที่ไม่มีเที่ยวบินของสายการบินไทย และมีเที่ยวบินตรงจำกัด จึงต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางการส่งถุงเมล์บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับประเทศไทยที่เหมาะสม

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งและรับบัตรเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะให้เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่การขนส่งและระบบไปรษณีย์มีปัญหาและไม่สะดวกเดินทาง ถือบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาส่งที่ประเทศไทยด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ได้นำระบบติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (โอวีเอ็มเอส) มาใช้ในการติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานเอกอัครราชทูตไทย/สถานกงสุลใหญ่ไทยทุกแห่ง โดยระบบสามารถประมวลผลความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรบนแดชบอร์ดได้แบบเรียลไทม์ สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นไปเพื่อทำให้การเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อรักษาสิทธิของคนไทยในต่างประเทศ

นางกาญจนา กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งในอนาคต กระทรวงการต่างประเทศเตรียมหารือกับ กกต. ให้พิจารณาถึงวิธีเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบไอ-โหวต (i-Vote) ซึ่งสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ของรัฐบาล โดยไอ-โหวต สามารถใช้ระบบบล็อกเชนมาช่วยในการบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ประกอบกับไอ-โหวต จะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศ สามารถลงทะเบียนและใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางและสะดวก รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยหวังว่า กกต. จะสามารถพัฒนาไอ-โหวต ได้ทันสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ มีหลายประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย และยุโรป ได้เริ่มใช้ไอ-โหวต อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ