กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก เกี่ยวกับ “คลื่นความร้อน” (Heat Wave) ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากปีนี้ อากาศประเทศไทยร้อนกว่าปกติ กว่าปีที่ผ่านๆ มา

จนเมื่อช่วงสงการนต์ที่ผ่านมา คือในวันที่ 15 เม.ย. 2566  สถานีอุตุนิยมวิทยาตาก อ.เมือง จ.ตาก สามารถวัดอุณหภูมิในพื้นที่ได้ 44.6 องศาเซลเซียส ถือเป็นเป็นสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดของประเทศไทย เท่ากับสถิติเดิมที่เคยตรวจวัดได้ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 ซึ่งปีนั้นก็มีปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้น!!

จากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการแชร์ข้อความส่งต่อกันว่า “ช่วงเดือนนี้และต่อไปอีก 3 สัปดาห์ ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ Monster Asian heatwave ความร้อนสูงสุดได้ถึง 50 องศาฯ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน”

ซึ่งทาง น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้เปิดเผยกับ “เดลินิวส์” ไปแล้วว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด ไม่มีทะเลทราย ยังมีลมพัดหมุนเวียน และอยู่ใกล้ทะเล จึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุมพื้นที่ ประกอบกับช่วงนี้ หลายพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อนมีฝนตก!!

“คลื่นความร้อน” หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) คืออะไร วันนี้ ทาง “เดลินิวส์” มีคำตอบให้ทุกคนได้รู้กัน?

สำหรับ “คลื่นความร้อน” หรือ “ฮีตเวฟ” ทางกรมอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงนี้ อาจเกิดยาวนานเป็นเวลาไม่กี่วัน หรือนานหลายสัปดาห์ ตามปกติการให้นิยามคำว่า “คลื่นความร้อน” ไม่สามารถระบุอุณหภูมิที่แน่นอนได้ว่า อุณหภูมิเท่าใดจึงจะเรียกว่าเป็นคลื่นความร้อน

เนื่องจากแต่ละพื้นที่อุณหภูมิของอากาศแตกต่างกัน และลักษณะของคลื่นความร้อน จะขึ้นกับลักษณะอากาศปกติของพื้นที่นั้น โดยอุณหภูมิของอากาศในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิอากาศร้อนปกติ อาจเป็นคลื่นความร้อนสำหรับพื้นที่ที่มีอุณหภูมิปกติค่อนข้างต่ำก็ได้

อย่างไรก็ตาม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ได้กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนว่า หมายถึงภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเชลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน จึงเรียกว่า พื้นที่ดังกล่าวเกิด “ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน”

ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ A มีอุณหภูมิอากาศปกติที่ประมาณ 18-25 องศาเชลเซียส เมื่อมีการเคลื่อนที่ของมวลอากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าว มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 30-35 องศาเชลเซียส อย่างฉับพลัน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิสูงจะคงค่านี้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ จึงเรียกว่าพื้นที่ดังกล่าว เกิด “ปรากฏการณ์ คลื่นความร้อน”

สำหรับประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานว่า พื้นที่ใดที่มีอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นคลื่นความร้อน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของไทยบางท่าน ให้ความเห็นว่าประเทศไทยอาจมีคลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้ในอนาคดเช่นกัน!!

เนื่องจากในปัจจุบัน ปรากฏการณ์เอลนีโญยังทวีความรุนแรง จึงทำให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในฤดูร้อน

จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป โดยเฉพาะในปีหน้า ที่คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่มีสภาวะรุนแรงมากขึ้น!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์