เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 พ.ค. ไอลอว์ ได้แถลงสรุปผลการสังเกตการณ์การนับคะแนนและการรายงานผลคะแนนหน้าหน่วย โดยทีมงาน iLaw และ Vote62 โดยมีการสรุปภาพรวมการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ของอาสาสมัครที่มีการแบ่งเก็บข้อมูล รวมถึงเปิดช่องทางการรับรายงานทางเฟซบุ๊กไอลอว์ ทวิตเตอร์ และช่องทางอื่นๆ ทั้งนี้ มีการแจ้งปัญหาระหว่างการเลือกตั้งจำนวน 375 เรื่องที่ร้องเรียน ซึ่งมีปัญหาที่ร้องเรียนเยอะที่สุด คือเรื่องของการไม่ให้ถ่ายภาพ โดยผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถถ่ายภาพตัวเอง ญาติพี่น้อง หรือบรรยากาศการเลือกตั้งได้ถึง 81 เรื่องร้องเรียน และอีก 41 เรื่องร้องเรียน กรณีกรรมการประจำหน่วยไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ผู้ที่มาใช้สิทธิ โดยไม่มีการเปิดหน้ากากอนามัยผู้มาใช้สิทธิว่า ตรงตามบัตรประชาชนหรือไม่  

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาบอร์ดแนะนำผู้สมัคร ส.ส. การตกหล่นไม่ครบด้วย รวมถึงปัญหากรณีรายชื่อผู้มาใช้สิทธิ ยังมีรายชื่อผู้เสียชีวิต บางรายเสียชีวิตมา 20 ปีแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความไม่พร้อมของกรรมการประจำหน่วยยังเป็นปัญหาอยู่ ส่วนการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกอาณาจักรนั้น ทางไอลอว์ได้มีการตั้งทีมไปสังเกตการนับคะแนนเลือกตั้งจำนวน 150 คน โดยมีการพบว่า มีการส่งบัตรมาไม่ทันการนับคะแนน เช่นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

ขณะเดียวกัน ไอลอว์ยังมีความกังวลเรื่องบัตรเขย่ง ประมาณ 3-4 เคส เพราะในใบแบบฟอร์ม เมื่อนำตัวเลขของการลงคะแนนมารวมกัน จะไม่เท่ากับจำนวนบัตรดี ทั้งนี้ ยกตัวอย่างที่ จ.สงขลา เขต 2 ยังไม่มีการยุติ โดยผู้ชนะคือผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ชนะผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คะแนนห่างกันแค่ 168 คะแนน แต่ปัญหาคือ ยังมีข้อกังขาจำนวนประเภทบัตรและจำนวนผู้ใช้สิทธิ และการนับคะแนนล่าช้า และประกาศผลคะแนนล่าช้ามากกว่าปกติ โดยทางผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ได้ไปสอบถาม ได้รับคำตอบว่า ผลคะแนนสูสีกันมาก จึงยังไม่มีการเซ็นรับรองผลการเลือกตั้ง จึงต้องจับตาเขตเลือกตั้งดังกล่าวกันต่อไป

ทั้งนี้ ที่ จ.ชลบุรี เขต 20 ยังไม่ยุติเช่นกัน โดยผู้ชนะคือผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลำดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งชนวนสำคัญของปัญหาในเขตนี้บัตรเขย่ง 4,959 ใบ ซึ่งผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ได้มีการทักท้วงว่า บัตรผู้ลงคะแนนและบัตรเสียไม่เท่ากับจำนวนผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง สุดท้ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปว่ากรอกเลขผิด ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การนับคะแนนของเขตดังกล่าว มีการหยุดชะงัก รายงานเลยเวลาเที่ยงคืน จนทำให้ประชาชนต้องมาดูผลคะแนนอีกครั้งในช่วงเช้าของวันถัดมา ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วยคะแนนห่างกันไม่ถึง 100 คะแนน ส่วนที่ จ.พังงา พบว่ามีข้อครหา เรื่องการซื้อเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งชนะพรรคเพื่อไทย (พท.) ไปได้ 109 คะแนน ในประเด็นนี้น่าสนใจว่า ถ้าหลักฐานหนักแน่นเพียงพอ ก็อาจจะเกิดการเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอไปยัง กกต. จำนวน 3 ข้อเร่งด่วน 1. ขอให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยเร็วที่สุดและไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 60 วัน ยิ่งใช้เวลานาน จะเป็นช่องว่างให้นักการเมืองใช้เป็นช่องทางต่อรองจัดตั้งรัฐบาล เขตไหนไม่มีการทุจริต วันที่ 22 พ.ค. ขอให้ประกาศเลย 2.มีข้อร้องเรียนการรวมคะแนนที่ผิดพลาด ไม่ตรงกับที่ประชาชน และผู้สมัครรวมกันเองในหลายพื้นที่ จึงขอให้ กกต. สั่งนับคะแนนใหม่ ไม่ทำให้ กกต. ผิดพลาด หรือเสียหน้าแต่อย่างใด แต่จะทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น และ 3.การรายงานผลที่ไม่ตรงกัน หรือเรียกว่าบัตรเขย่ง ขอให้ กกต. ออกมาชี้แจง โดยเลิกพฤติกรรมชี้แจงโดยที่ไม่บอกความจริงประชาชน.