สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า ประกาศข่าวคุณภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศโลก (Air Quality and Climate Bulletin) ที่ออกเป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ ดับเบิลยูเอ็มโอ (World Meteorological Organization : WMO) จากสำนักงานใหญ่ในเมืองเจนีวา ระบุว่า ค่าพีเอ็ม 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ลดลงถึง 40% ทั่วแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียใต้ และลดลงในปริมาณน้อยกว่า ในหลายพื้นที่ของยุโรป และอเมริกาเหนือ

โอซานา ทาราโซวา ผู้อำนวยการแผนกวิจัยสิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศของดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวว่า มาตรการล็อดาวน์ หรือปิดประเทศ/ปิดเมือง และการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 ทำให้การปล่อยมลพิษสู่อากาศ ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง

ประกาศข่าวของดับเบิลยูเอ็มโอ ซึ่งเปรียบเทียบคุณภาพอากาศทั่วโลก ของปี พ.ศ. 2563 กับช่วงระหว่างปี 2558 – 2562 แสดงให้เห็นว่า ระดับของไนโตรเจนไดออกไซด์อันตราย ที่ปลดปล่อยออกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ลดลงเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก ลางพื้นที่ลดลงสูงถึง 70%

มลพิษในอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการเสียชีวิตก่อนวันอันควร ของประชาชนทั่วโลก จากรายงานผลการวิจัยล่าสุด เผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ระบุว่า มลพิษทางอากาศมีแนวโน้ม ลดเกณฑ์อายุยืนยาวของชาวอินเดียประมาณ 40% ลงกว่า 9 ปี

ทาราโซวา กล่าวว่า มลพิษทางอากาศที่ลดลงเมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นเกินไป จนไม่ส่งผลกระทบทางด้านสาธารณสุข.

เครดิตภาพ – REUTERS, © ESA screengrab
เครดิตคลิป – Arirang News