เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคก้าวไกลถึงความเคลื่อนไหวการจับขั้วรัฐบาล ตามที่ได้มีกำหนดการประชุมร่วมกันของ 8 พรรคร่วม ในวันที่ 30 พ.ค.ที่พรรคประชาชาติ โดยอาจมีการพูดคุยสัดส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีของแต่ละพรรค ว่า เบื้องต้น ตำแหน่งที่ทางก้าวไกลต้องการเพื่อเข้าไปบริหารขับเคลื่อนนโยบายของพรรคนั้น ได้มีการเสนอเบื้องต้นที่จะนำไปพูดคุยในวันที่ 30 พ.ค. อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิตอลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม แรงงาน เป็นต้น

โดยกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยเรื่องการทาบทามคนนอกเข้ามา ในตำแหน่งฝ่ายบริหารนั้น มีแนวโน้มว่า คนนอกจะมาอยู่ในโควต้า รมว.มหาดไทย เพื่อผลักดันนโยบายการกระจายอำนาจ รวมถึงเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยโมเดลกระจายอำนาจนี้ ก้าวไกล มีแนวคิดที่จะเริ่มดำเนินการที่ จ.ภูเก็ต ขณะที่ โควต้าเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของก้าวไกล จะเป็นพลเรือน เพื่อให้เป็นไปตามเเนวทาง หลักการที่พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ โดยขณะนี้มีชื่อของนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะถูกพิจารณานั่งเก้าอี้รมว.กลาโหม อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเรื่องจำนวนโควต้าและรายชื่อต่างๆ ในส่วนของพรรคก้าวไกลยังไม่สะเด็ดน้ำ ขึ้นอยู่กับการเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วม 8 พรรค ตั้งเเต่วันที่ 30 พ.ค. เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวในส่วนตำแหน่งสำคัญๆ ของฝ่ายบริหารด้วย อาทิ ช่วงที่ผ่านมาแกนนำ พรรคก้าวไกลต้องการผลักดัน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้นั่งเก้าอี้โฆษกรัฐบาล แต่ทางด้านนายพริษฐ์ ต้องการทำหน้าที่ ส.ส.สมัยเเรกในฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า เนื่องจากหากไปเป็นโฆษกรัฐบาล อาจจะต้องลาออกจากตำแหน่งส.ส. อีกทั้งนายพริษฐ์ ต้องการขับเคลื่อนงานในสภาฯ โดยเฉพาะเรื่องของรัฐธรรมนูญมากกว่า ตามที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยเป็นหนึ่งในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ผลักดันเรื่อง “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อล่ารายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ