ด้วยเหตุนี้…ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหวั่นใจกับปัญหาใหญ่ที่กำลังเริ่มก่อตัวจะกลายเป็นพายุลูกใหม่ โหมใส่เศรษฐกิจไทย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือไม่ทัน หรือตั้งรับไม่ทันการณ์จนอาจทำให้เกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหา “ภัยแล้ง” ที่เกิดจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” หลังจากทั่วโลกส่งเสียงเตือนมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ข้อมูล หลังจากปรากฏการณ์ “ลานีญา” ครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. 63 ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้ปี 66 ทั่วโลก ต้องกลับมาเจอปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กำลังส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญวิกฤติภัยแล้งรุนแรงที่เริ่มเห็นชัด ผู้คนในยุโรปกำลังประสบปัญหาภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 500 ปี ทั้งที่แม่น้ำไรน์ใน เยอรมนี แม่น้ำลัวร์ ในฝรั่งเศส แห้งขอด ระดับน้ำลดลงเหลือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือในหลายประเทศต้องพบกับปัญหาไฟป่าที่รุนแรง

หวั่นภัยแล้งถล่ม ศก. 

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา บรรดาภาคเอกชน โดยเฉพาะ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ได้เรียกร้องรัฐบาลให้ออกมารับมือแก้วิกฤติภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้น…เศรษฐกิจประเทศไทย ที่กำลังถูกถาโถมจากสารพัดเสี่ยงอยู่แล้วในเวลานี้ ทั้งตัวเลขการส่งออก ที่ติดลบต่อเนื่อง ทั้งปีคาดว่า ไม่ขยายตัว หรืออาจติดลบ 1% หรือเรื่องความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่จบสิ้น ส่งผลต่อราคาพลังงานโลกที่ไม่นิ่ง พร้อมผันผวนตลอดเวลา รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงลูกใหม่จากปัญหาการเมืองในประเทศ ที่แม้การเลือกตั้งจบไปแล้ว แต่การตั้งรัฐบาลยังไม่จบ!! และยังไม่รู้ว่าจะมีม็อบลงถนนในอนาคตอีกหรือไม่ ขณะที่คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน กำลังงัดทุกกระบวนท่าดึงดูดการลงทุน ทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอของไทย ไม่เติบโตมากนัก และมาจนถึงเวลานี้ “ภัยแล้ง” ก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะหากตั้งรับหรือรับมือกันไม่ทัน มีหวังจะกระทบเป็นลูกโซ่ยาวแน่นอน

เพราะอย่าลืมว่า “น้ำ” ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับทุกภาค ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ราคาสินค้าที่จะพุ่งขึ้น ลามไปถึงเงินเฟ้อ ขีดความสามารถการแข่งขันของไทย ล้วนแล้วแต่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย มีโอกาส “ฟุบ” ยาวแน่ ถ้าตั้งรับไม่ดีพอ!!! แบบหลายๆ เรื่องประเทศไทยเคยประสบมาแล้ว  

ส่งหนังสือจี้บิ๊กตู่แก้ด่วน  

ล่าสุด 3 บิ๊กภาคเอกชน ทั้ง “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  “เกรียงไกร เธียรนุกล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมจดปากกาเซ็นชื่อส่งหนังสือด่วนในนาม กกร. ถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ตั้งรับแก้ปัญญาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะ “เอลนีโญ” ตั้งแต่เดือน ก.ค. 66 ทำให้มีฝนน้อยทิ้งช่วงยาวนาน มีโอกาสเกิดภัยแล้งต่อเนื่อง 3 ปี และมีความผันผวนของปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในระยะยาว

กกร.จึงขอให้นายกฯ เร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และการใช้น้ำของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรมชลประทาน และคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ขณะเดียวกัน กกร.ได้มีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำมาตรการฯ ทั้งในระยะเร่งด่วน เช่น การควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในอ่าง การเร่งผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ มาเก็บในอ่างเก็บน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำตามโครงข่ายท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ขณะที่มาตรการระยะยาว ก็เสนอให้เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ เพื่อกักเก็บน้ำสำรองให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก รวมไปถึงการทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง ทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และในพื้นที่อื่นๆ เป็นต้น

“สมชาย หวังวัฒนาพาณิช” ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ได้ขยายความว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกใกล้ชิด เนื่องจากไทยเข้าสู่สภาพอากาศแบบเอลนีโญ ทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้งจนอาจกระทบต่อน้ำต้นทุนในพื้นที่ตะวันออกลดต่ำลง โดยเฉพาะปี 67 จึงคาดหวังว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการเพื่อให้น้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แม้ขณะนี้จะมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาเพิ่มเติมแต่มีปริมาณลดลงโดยเฉลี่ยปริมาณฝนปีนี้มีค่าต่ำกว่าปกติ 40% และในพื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าปกติ 60% แต่น้ำต้นทุนยังเพียงพอในการใช้ในระหว่างที่ฝนทิ้งช่วง มิ.ย. และฝนจะมาอีกครั้งในช่วง ส.ค. แต่สิ่งที่กังวลคือปี 67 ที่น้ำต้นทุนในภาคตะวันออกอาจจะลดหนัก หากไม่เร่งบริหารจัดการน้ำอาจเกิดปัญหาได้ ยอมรับว่าขณะนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ก็อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็ว  

เจ๊ง 3.6 หมื่นล้าน บ.

เบื้องต้น กกร.ประเมินว่า ภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาภัยแล้งที่ไทยประสบในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีแบบมีนัยสำคัญ เช่น ปี 63 ผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของไทย จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.4% ลดลงเหลือ 1.5-2.5% ภัยแล้ง ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก และทำให้จีดีพี ภาคอุตสาหกรรมติดลบสูงถึง 5.94% รวมไปถึงวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในปี 54 ที่จีดีพี ภาคอุตสาหกรรม ติดลบถึง 4.12%

กูรูน้ำมองแล้งปีนี้ต้องระวัง 

ด้านกูรูเรื่องน้ำอย่าง “เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต  ได้ออกมาคาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และต่อเนื่องไปถึง 4-5 ปี ซึ่งไทยไม่เคยเกิดภาวะเช่นนี้มาก่อนแม้แล้งหนัก ในปี 58 ปี 59 แต่ก็ไม่ได้แล้งนานติดต่อกัน โดยคาดว่าในเดือน ธ.ค. 66-ก.พ. 67 จะเป็นช่วงที่เกิดเอลนีโญรุนแรงที่สุด ซึ่งจะขึ้นสูงสุดเป็นปีแรก จากนั้นจะเกิดขึ้นในปี 68 และปี 69 ก่อนขึ้นอีกทีในปี 70 และ ปี 71 ซึ่งเท่ากับว่าเป็นภาวะที่เกิดใน 3 ช่วง ที่ต้องระมัดระวังและต้องประหยัดน้ำ ต้องบริหารน้ำให้ดีตั้งแต่เวลานี้ 

อย่าวางใจแม้มีน้ำใน 4 เขื่อน

แม้ปีนี้ยังพอมีน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีหน้าแล้งหนัก และยังใช้น้ำไม่ประหยัด หรือใช้น้ำหมดหน้าตัก แล้วรอความหวังฝนจะตกเพียงพอ อาจต้องคิดใหม่ เพราะถัดไปจากปีหน้าไปอีก 67-68 ยอดจะแตะอีกยอดหนึ่ง ก็กลับมาฝนไม่ดีอีก ต้นทุนมันจะถูกใช้ อาจเก็บไม่ได้ จะทำให้ปี 68-69 ตรงนั้นมันจะหนักขึ้น หลังจากนั้นในปี 70-71 ต่อเนื่องมา หมายถึง ความแล้งแตะมาถึง 3 ยอด ตรงนี้ต้องประเมิน 4-5 ปีเลย เพราะวางแผนปีเดียวไม่ได้  แต่ความหนักก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนน้ำในเขื่อนหายไปเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องวางแผนอย่างรอบคอบในระยะยาว 

ขณะเดียวกันเกษตรกรที่เคยปลูก ก็ต้องลดพื้นที่ปลูกพืชให้เหลือครึ่งหนึ่ง รวมทั้งต้องหาอาชีพอื่นทำ หรือไม่ควรหันไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย ขณะที่รัฐต้องออกแบบประกาศและวางนโยบายและแนวทางที่ต้องทำอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงเพื่อเกษตรกร ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปแนะนำไปพูดคุยให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน หรือกรมวิชาการเกษตร ซึ่งต้องส่งเสริม และหาพืชอายุสั้น ขณะเดียวกันในเรื่องของข้าวที่มีอยู่ที่จำเป็นต้องปลูก ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรแบบจริงจังทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน 

เรียกง่ายๆ ว่าต้องให้เบ็ดเค้าตกปลา เพื่อให้หาปลากินเองได้ โดยในอนาคต การปลูกพืชระยะสั้นและสนับสนุนให้มีนวัตกรรมในพื้นที่เดิม และมีการลดการปลูกให้สอดคล้องกับสภาพแล้ง โดยเอกชนนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริม ต้องนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม อย่ามุ่งเพียงแค่ “ใช้เงิน” มาเยียวมา ผ่านโครงการจำนำ หรือประกันรายได้ เพราะแนวทางนี้ไปต่อไม่ได้แล้ว หากไม่เตรียมไม่ปรับตัวให้พร้อม ทั้งภาครัฐ ทั้งชาวบ้านเอง อาจสายเกินแก้!!

10 มาตรการรับมือแล้ง 

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ในปัจจุบัน ได้เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่มีแนวโน้มปริมาณฝนน้อย รวมถึงการเร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการ รับมือฤดูแล้งปี 66 ที่มีแผนงาน โครงการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 ทั้งในเรื่องของการกักเก็บน้ำ การเฝ้าะวังและจัดเตรียมแหล่งน้ำสำรอง เป็นต้น

แม้หน่วยงานได้เร่งดำเนินการแล้วก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นรัฐบาลรักษาการที่รอ “เปลี่ยนผ่าน” เข้าสู่รัฐบาลใหม่ และเวลานี้อาจ “สลับขั้ว” การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเดิม เพราะฉะนั้นการสั่งการ การทำงาน ความร่วมมือต่างๆ จะเต็มที่เหมือนกับช่วงรัฐบาลเต็มตัวหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้แน่ชัด!!! เพราะขนาดเป็นรัฐบาลเต็มตัว บางปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 กลายเป็นตัวชี้วัดในเห็นในหลายเรื่องว่า รัฐบาลแก้ปัญหาดีพอหรือไม่ หรือยิ่งทำให้วิกฤติลุกลามสาหัสกว่าเดิม

เพราะฉะนั้น “ปัญหาภัยแล้ง” ที่เชื่อได้ว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ อาจลามเป็น “วิกฤติมหันตภัยร้าย” หรือถ้ารัฐบาลมีแผนตั้งรับที่ดีพอผ่อนหนักกลายเป็นเบาได้ โดยจะเป็นแบบแรก หรือแบบที่สอง อีกไม่นานคงได้เห็นกัน!!!.

ทีมเศรษฐกิจ