เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. แจ้งเตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพแฝงตัวเป็นลูกค้าร้านอาหาร โทรศัพท์ไปยังร้านอาหารขอเงินคืน เนื่องจากอาหารที่ได้รับไม่ถูกต้อง หรือผิดประเภท โดยปัจจุบันการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ (Food delivery) มักเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของผู้บริโภค เนื่องจากได้รับความสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ หรือสั่งผ่านเว็บไซต์ หรือสั่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้แฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน

พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า รับรายงานว่า จากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบเริ่มมีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารได้รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพโทรศัพท์แจ้งว่าเป็นลูกค้าของร้าน ก่อนหน้านี้ได้ทำการสั่งอาหารออนไลน์จากร้าน แต่กลับได้รับอาหารไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ เช่น สั่งอาหารประเภทเนื้อวัว แต่ได้รับอาหารประเภทเนื้อหมูมาแทน ทำให้ตนได้รับความเสียหาย โดยจะเรียกร้องให้ร้านอาหารทำการโอนเงินค่าอาหารคืนในจำนวนต่างๆ

เจ้าของร้านบางรายหลงเชื่อไม่ได้ตรวจสอบก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากจึงโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ เจ้าของร้านบางรายพบพิรุธจึงตรวจสอบก่อนกลับพบว่าไม่มีลูกค้ารายใดสั่งอาหารตามรายการที่อ้างในช่วงเวลา หรือในราคาดังกล่าวจริงแต่อย่างใด เมื่อเจ้าของร้านสอบถามยืนยันอีกครั้งมิจฉาชีพก็ได้วางสายโทรศัพท์ไป

ทั้งนี้การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ยังคงใช้แผนประทุษกรรมเช่นเดียวกับการหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน โดยจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65-5 มิ.ย. 66 พบว่ามีประชาชนแจ้งความร้องทุกข์กว่า 9,768 เรื่อง หรือคิดเป็น 3.58% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 351 ล้านบาท

การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพจะใช้วิธีการหาข้อมูลร้าน รายการอาหาร เบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารเป้าหมายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แล้วเริ่มโทรศัพท์หาเหยื่อแอบอ้างเป็นลูกค้าที่สั่งอาหารของร้าน โดยมักจะแจ้งราคาอาหารเป็นจำนวนเงินไม่มาก เพื่อเลี่ยงไม่ให้เจ้าของร้านตรวจสอบ รวมไปถึงมิจฉาชีพยังใช้วิธีการเริ่มจากการปลอมเป็นบุคคลที่รู้จักอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อขอยืมเงิน เช่น ต้องใช้เงินด่วนไม่ได้พกเงินสดติดตัวมา บิดามารดาเจ็บป่วย เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของลูกค้าเองก็ควรตรวจสอบก่อนว่า อาหารที่สั่งซื้อส่งมาให้ถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้การทำธุรกรรมการเงินใดๆ ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และมีสติอยู่เสมอ

จึงฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 7 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.หากท่านเป็นเจ้าของร้าน หรือผู้ดูแลร้าน เมื่อรับสายโทรศัพท์ในลักษณะดังกล่าวให้สอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด เช่น ชื่อผู้สั่งอาหาร รายการอาหารที่สั่ง วันเวลาที่สั่ง ราคาของอาหาร และเลขคำสั่งซื้อ เป็นต้น

2.ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาให้ดีเสียก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ ลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาได้สั่งอาหารจริงหรือไม่

3.หากจำเป็นต้องโอนเงินคืน ให้นำเบอร์โทรศัพท์ ชื่อบัญชีธนาคาร และชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร ไปตรวจสอบในเว็บไซต์ค้นหาทั่วไปก่อนว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่

4.หากเป็นกรณีอ้างว่าเป็นเพื่อนที่รู้จัก เมื่อมีการขอให้โอนเงินไปให้ ต้องทำการยืนยันตัวบุคคลนั้นก่อน โดยโทรศัพท์ไปหาโดยตรง แล้ววิดีโอคอลขอให้เปิดกล้องโทรศัพท์เพื่อให้เห็นใบหน้าอย่างชัดเจน อย่าได้เกรงใจ ซึ่งหากบุคคลที่ทักมาขอยืมเงินเป็นคนที่เรารู้จักจริง ก็ต้องยินยอมให้ยืนยันตัวตน

5.หากบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารไม่ตรงกับบุคคลที่เราจะโอนเงินไปให้ สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอ้างว่าเป็นบัญชีของผู้ใดก็ตาม

6.หากท่านตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารในทันที เพื่อขอทำการอายัดบัญชีธนาคารของคนร้าย