เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หากอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องมีคดีความ และมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้นั้นเป็นนายกฯ ได้ โดยอ้างกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 62 นั้น นายวิษณุคงเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวบทกฎหมายก็มีจำนวนมาก โดยตนขอชี้แจงเป็นรายประเด็นรวม 3 ประเด็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร

ประเด็นที่ 1 หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกล ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันกำลังถูกบรรดานักร้องทางการเมือง ร้องเรียนกรณีการถือหุ้นไอทีวี เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ เป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)

ตนมั่นใจว่านายพิธาสามารถชี้แจงกรณีหุ้นสื่อไอทีวีได้ และเดินหน้าตามกระบวนการสู่การเป็นนายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชน แต่หากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเป็น ส.ส. เท่านั้น แต่โดยคุณสมบัตินายพิธายังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคนละตำแหน่งและคนละกรณี จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายต่อการเสนอชื่อนายพิธาต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ดังนั้น ความเห็นของวิษณุที่ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ จึงไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีเคยเกิดขึ้นแล้วกับนายธนาธรเมื่อปี 62 ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 62 และมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 62 ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 62 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น ที่นายวิษณุกล่าวว่า กรณีนายธนาธร “โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ 2 สมัย” นั้น น่าจะเป็นการจดจำช่วงเวลาคลาดเคลื่อน

ประเด็นที่ 2 กรณีการเข้าชื่อตรวจสอบสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่นายวิษณุระบุว่า ถ้าฝั่ง ส.ว. จะยื่นใช้ 25 คนนั้น เมื่อกลับไปดูมาตราดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่ากำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง หมายความว่า ให้สมาชิกของแต่ละสภาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกของสภาเดียวกัน เช่น ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. จึงไม่ได้หมายความว่าให้ ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ตามที่นายวิษณุระบุ

ดังนั้น เมื่อนายพิธาเป็น ส.ส. จะให้ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธา ที่เป็น ส.ส. ตามที่นายวิษณุกล่าว ก็ดูเป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ส่วนประเด็นที่ 3 ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า กรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ และนายวิษณุระบุว่า “ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษาอัยการอธิบดี หรือแม้แต่ขอประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่าให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามีก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร ก็แล้วแต่” โดยในกรณีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ผู้ที่รับผิดชอบคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ตนเห็นว่าการให้ความเห็นของนายวิษณุแบบนี้ แม้เป็นความพยายามอธิบายกระบวนการที่ทำกันมา แต่ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างคือข้าราชการประจำ ต่างจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองโดยแท้และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การยกมาเปรียบเทียบแบบนี้ จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อพระราชสถานะทรงดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและศูนย์รวมจิตใจ ในเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว นายวิษณุก็ไม่ควรอ้างถึงพระมหากษัตริย์ ถ้าตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตนพร้อมรับผิดชอบ

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รัฐบาลเดิมควรส่งมอบงานให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการละลาบละล้วงหรือล่วงเกินใคร แต่ต้องการร่วมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ผู้ได้รับมอบความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง จะได้รับส่งมอบงานเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นรัฐบาล ทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป

“ส่วนการให้ความเห็นของอาจารย์วิษณุ ไม่ทราบว่าให้ความเห็นในฐานะอะไร ถ้าในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก็คงจะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า อาจารย์วิษณุในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำลังชี้นำใครหรือองค์กรใดอยู่หรือไม่ แต่ถ้าพูดในฐานะนักวิชาการ อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย ก็คงห้ามปรามกันไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนคนหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าจะไม่มีใครหรือองค์กรใด สามารถขัดขวางเจตจำนงของประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค กว่า 27 ล้านเสียง ซึ่งจะเป็นพลังให้มุ่งหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจนสำเร็จ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและเพื่อส่งมอบนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน

ทางด้าน นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายโต้แย้งกรณีคุณสมบัติของนายพิธา ว่าสิ่งที่มีคนออกมาโต้แย้งตน ถ้าเป็นไปตามข่าว ถือเป็นการโต้แย้งที่ถูกต้องแล้ว เพราะการฟ้องร้องตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการฟ้องศาลอาญา แต่ศาลที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ คือศาลรัฐธรรมนูญ และการจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นเริ่มทำหน้าที่ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง และรับรองให้เป็น ส.ส. มีการรายงานตัวเรียบร้อย และมีรัฐพิธีเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภา โดย ส.ส. ต้องปฏิญาณตนก่อน จึงถือว่าบุคคลนั้นได้เข้าทำหน้าที่ ส.ส. จากนั้นจะประชุมเพื่อเลือกประธานรัฐสภาแทนราษฎร

กรณีของนายพิธา ถ้าได้รับรองผลเป็น ส.ส. ก็สามารถเข้าปฏิญาณตนในฐานะ ส.ส. ได้ แต่ถ้ามีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ศาลสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็น ส.ส. ได้ ยกเว้นในคำร้องจะขอให้ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งยังไม่รู้ว่าในคำร้องมีการร้องในเรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้าร้องว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดแล้วศาลสั่งให้หยุดทั้งหมด จะทำให้เสนอชื่อบุคคลที่ถูกร้องชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ หากเสนอชื่อไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประธานสภาจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ว่าอย่างไร และหากโปรดเกล้าฯ การแต่งตั้งรัฐมนตรี ผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการ คือนายกรัฐมนตรี กระบวนการทั้งหมดจะไล่เรียงตามที่กล่าวมา แต่เมื่อถึงเวลานั้นในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าศาลฯ จะสั่งอย่างไร ตนจึงไม่อยากพูดอะไรที่เป็นการชี้ช่อง ยกตัวอย่างกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ศาลฯ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังสามารถทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ เพราะไม่ได้ถูกสั่งหยุดให้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ทั้งนี้ที่มีคนออกมาโต้แย้งตนก็ถูกแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในข้อกฎหมายไม่ได้มีเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่มีห้ามไว้ แต่ยังไม่รู้ว่าในคำร้องที่จะมีผู้ยื่นต่อศาลเขียนไว้อย่างไร ถ้าพูดตอนนี้ จะถูกกล่าวหาว่าชี้ช่องให้คนนำไปยื่นร้องต่อศาล จึงไม่ขอตอบในส่วนนี้ แต่ขอย้ำว่าทั้งหมดอยู่ที่คำร้องของผู้ยื่นร้อง และคำสั่งของศาล”

เมื่อถามว่าสุดท้ายเรื่องจะกลับมาอยู่ที่ดุลพินิจของประธานสภาพิจารณาใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ประธานสภาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการจัดการเรื่องนี้ เพราะผู้ลงนามเพียงคนเดียวในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภา ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ถ้าบุคคลที่ถูกร้อง ไม่ได้รับการโหวตเลือกจากสภา ชื่อตกไปก็แล้วไป แต่ถ้าสภาโหวตเลือกเป็นนายกฯ ผู้ที่เป็นประธานสภาต้องคิดหนัก และ ส.ส. ส.ว. ที่ร่วมโหวตบุคคลที่ถูกยื่นร้องอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบในทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าศาลมีอำนาจสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะกรณีผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. นายกรัฐมนตรี โดยไม่ครอบคลุมผู้ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าตอบ เพราะเราไม่มีตัวอย่าง ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะสั่งหรือไม่สั่งก็ได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 จะเป็นกรณีพิจารณาตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีกรณีนายธนาธร สมัยที่เป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เท่านั้น จึงสามารถชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ ต่างจากกรณีของนายพิธา ที่ถูกร้องให้หยุดทั้งการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และการชิงนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยมีกรณีที่ยื่นร้องให้หยุดทำหน้าที่ผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ เมื่อถามย้ำว่าถ้าจะยื่นร้อง ควรจะให้มีการรับรองนายพิธาเป็น ส.ส. ก่อน ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า “ผมไม่พูดชี้ช่อง ถ้าผมตอบสื่อตรงนี้ ถือว่าผมชี้ช่อง”

เมื่อถามว่าในการโหวตนายกรัฐมนตรี หากผู้ถูกเสนอชื่อไม่มีใครได้เกิน 376 เสียง ของทั้งสองสภา จะต้องค้างขั้นตอนนี้ไว้ก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกแล้ว ถ้าพูดตอนนี้จะถูกหาว่าชี้ช่องให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่ต่อไปอีกยาว จึงอยากให้ช่วยกันทำให้เสร็จโดยเร็ว ถ้าวันนี้ยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็เลือกใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่า กกต. จะใช้อำนาจตามมาตรา 151 ฟ้องนายพิธา จะต้องมีต้นเหตุมาก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีหรือไม่มี ไม่รู้ แต่ กกต. จะฟ้องตามอำนาจมาตรา 151 แต่ขอไม่ตอบเพราะรู้ว่าสื่อคิดอะไร

เมื่อถามว่ากรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุว่า ส.ว. ไม่สามารถเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. นายวิษณุ กล่าวว่า ส.ว. สามารถทำได้ตามมาตรา 82 เพื่อขอตรวจสอบ ส.ส. และ ส.ว.ได้ แต่ให้เข้าชื่อรวมจำนวนกันให้ได้ 1 ใน 10 แต่ยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังมีขั้นตอนอีกหลายด่าน