นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นายชาติชาย พานิชชีวะ รองประธานส.อ.ท. พร้อมด้วยนายนาวา จันทนสุรคน กรรมบริหาร ส.อ.ท. ได้ร่วมคณะเดินทางกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและภาคเอกชนไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมมือด้านการค้ากับเอกชน 2 ประเทศ ซึ่งซาอุฯ ต้องการดึงนักลงทุนทั่วโลกไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่มีแผนสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า “นีอุม” ซึ่งไทยเป็นนักลงทุนที่ซาอุฯ ได้เชิญชวนเข้าไปลงทุนโดยเฉพาะ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ ปิโตรเคมี, รถยนต์และชิ้นส่วน, อาหาร, วัสดุก่อสร้างและต้นไม้ โดย ส.อ.ท. จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อมาขับเคลื่อนการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ที่จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

“ซาอุฯ มีโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ในกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) รวม 6 ประเทศ ตามเป้าหมายของ Vision 2030 ที่ซาอุฯ จะเป็นแกนหลักนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกที่กำหนดไว้ 38 ประเภท เพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียงสีเขียวปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุฯ แล้วกว่า 200,000 ต้น และถือว่า ยังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ได้อีกมาก ขณะเดียวกัน ซาอุฯ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยด้านคลังน้ำมันและปิโตรเคมีในโครงการแลนด์บริดจ์พื้นที่ภาคใต้” นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับรายชื่อต้นไม้ 38 ประเภทที่มีโอกาสส่งออกไปยังซาอุฯ เป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย

1. ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea)

2. นนทรี (Peltophorum pterocarpum, Yellow poinciana)

3. พุทราจีน (Ziziphus jujuba)

4. ศรีตรัง (Jacaranda mimosifolia)

5. หูกวาง (Terminalia catappa)

6. อรชุน (Terminalia arjuna, Arjuna Tree)

7. ไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina, Weeping fig)

8. พฤกษ์ (Albizia lebbeck)

9. ยี่เข่ง (Lagerstroemia indica)

10. งิ้ว (Bombax cebia, Red kapok tree)

11. หางนกยูงฝรั่ง (Delonix regia)      

12. มัลเบอร์รี (Morus nigra, Blackberry)

13. มะรุม (Moringa oleifera)

14. เลี่ยน (Melia azedarach)            

15. มะเดื่อ (Ficus carica, Fig)

16. เลมอน (Citrus limon)

17. ส้มซ่า (Citrus aurantium)

18. คารอบ (Ceratonia siliqua, Carob Tree)

19. ส้มแมนดาริน (Citrus reticulata, Mandarin orange)

20. มะตูมซาอุ (Schinus terebinthifolius)

21. กระถินเทพา (Acacia mangium)

22. หยีน้ำ (Millettia pinnata)

23. นิโครธ (Ficus benghalensis)

24. ชัยพฤกษ์ (Cassia javanica)

25. ก้ามปู (Albizia saman)

26. ปีบ (Millingtonia hortensis, Tree jasmine)

27. เสี้ยวดอกขาว (Bauhinia variegate)    

28. ชงโค (Bauhinia purpurea)

29. ราชพฤกษ์ (Cassia fistula)

30. มะขามเทศ (Pithecellobium dulce)

31. มะกอกโอลีฟ (Olea europaea, Olive)

32. โพ (Ficus religiosa, Sacred fig)

33. สะเดา (Azadirachta indica)

34. มะขาม (Tamarindus indica)

35. โพทะเล (Thespesia populnea)

36. กร่าง (Ficus altissima)

37. ปอทะเล (Hibiscus tiliaceus, Seacoast mallow)

38. ทามาริสก์ (Tamarix aphylla, Athel pine)

นายชาติชาย พานิชชีวะ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เดือน ก.ค. เพื่อที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการผลักดันแนวทางการส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะสร้างรายได้ นอกจากนี้จากการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียได้ยกเลิกกฎหมายและอนุญาตให้ผู้หญิงชาวซาอุดีอาระเบียสามารถขับรถยนต์ได้ สนับสนุนให้ความต้องการใช้รถยนต์เติบโต จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในการขยายตลาดในซาอุฯ มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีนโยบายขยายการลงทุนโดยมุ่งขยายธุรกิจและพัฒนาระบบนิเวศด้านการก่อสร้าง (Construction Ecosystem) ไปสู่การขยายห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในด้านอื่นๆ ทั้งธุรกิจปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และ PVC เป็นต้น เพื่อต้องการสร้างเครือข่าย Supply chain ระหว่างประเทศ จึงมีแผนการจัดตั้งสำนักงาน ณ เมืองริยาด ภายในเดือนกันยายนปี 2566