เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงไทม์ไลน์ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผล ส.ส. 500 คนแล้ว ว่า หลังจากครบกำหนดที่ให้ผู้ที่ได้รับรองผลเป็น ส.ส. แต่ละคนไปรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาจะแจ้งต่อรัฐบาลว่า มี ส.ส. มารายงานตัวแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่ ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีจำนวนมากพอ ก็จะนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานวันประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ที่จะจัดขึ้นในอาคารรัฐสภา และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาประกาศว่าให้เป็นวันใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินในวันนั้น

สำหรับการเลือกประธานสภา จะเกิดขึ้นภายใน 10 วัน หลังเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภา แต่โดยปกติมักจะเร็วกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางสภา กำหนด และหลังจากเลือกประธานสภา เสร็จแล้ว จะใช้เวลาอีก 2-3 วัน ในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภา จากนั้น ประธานสภาจะมีอำนาจในการกำหนดวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลา และไม่กำหนดว่าโหวตเลือกนายกฯ ได้กี่ครั้ง หรือจะต้องเสร็จสิ้นเมื่อใด เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปควบคุมด้วย และเมื่อเลือกนายกฯ ได้ ก็ต้องตั้ง ครม. จากนั้น เมื่อ ครม. ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะพ้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค. หรือต้นเดือน ส.ค. นี้ นี่คือไทม์ไลน์ที่ตนแจ้งที่ประชุม ครม. เป็นการประมาณการเปรียบเทียบกับอดีต

ต่อข้อถามว่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือการเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ เพราะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนตั้งกำแพงต่อต้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเป็นกำแพงหรือไม่ แต่เท่าที่ตนดูข่าว ก็เห็นว่าดูดีขึ้นแล้วไม่ใช่หรือ ก็ดีใจด้วย

เมื่อถามว่าหากการเลือกนายกฯ ไม่มีกรอบเวลา จะช่วยลดข้อครหาว่ายื้อการแต่งตั้งโยงย้ายข้าราชการระดับสูง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีไม่ยื้อ ถึงอย่างไร การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ต้องขอ กกต. และ กกต. ก็ไม่อนุญาตมาแล้วหลายรอบ เอาไว้รอดูว่านานหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีแววว่าจะนาน ก็รอรัฐบาลใหม่เข้ามาก็แล้วกัน

ผู้สื่อข่าวถามถามว่าความสำคัญของประธานสภา ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ แตกต่างจากในอดีตหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความสำคัญในเชิงทางการเมืองและในเชิงกฎหมาย อาจมีนัยที่แตกต่างกัน แต่ในเรื่องอำนาจหน้าที่ยังเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าหลังจากการรับรอง ส.ส. แล้ว บุคคลใดบ้างที่สามารถดำเนินการยื่นการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ทุกรูปแบบ ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และมาตรา 82 ซึ่ง ส.ส. ส.ว. และ กกต. สามารถยื่นได้ หลังจาก ส.ส. ได้ปฏิญาณตนในการประชุมสภาแล้ว

ต่อข้อถามว่าสมมุติว่าในช่วงการลงมติเลือกนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ประธานสภาจะมีทางออกอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามอีกว่าประธานสภา ควรพักการประชุมวาระดังกล่าว จนกว่าศาลฯ จะตัดสินหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ และไม่ควรไปแนะนำอะไรต่อประธานสภา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยในช่วงหนึ่ง นายวิษณุ ได้อธิบายขั้นตอนไทม์ไลน์การมีรัฐบาลชุดใหม่ให้ ครม. รับทราบว่า ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครบ 100% แล้ว ขั้นตอนต่อไป ส.ส. จะต้องไปรายงานตัวที่สภา ในวันที่ 20-28 มิ.ย. เมื่อเสร็จแล้วจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นจะมีการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภา ในวันที่ 6 ก.ค. 66 จากนั้นประธารสภาเรียกประชุม 2 สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. 66

ทั้งนี้คาดว่าจะมีการแต่งตั้ง ครม. ใหม่ในวันที่ 21 ก.ค. และถวายสัตย์ฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. อย่างไรก็ตาม ขอให้ ครม. ชุดปัจจุบันเตรียมตัว ต่อให้ได้นายกฯ คนใหม่ ครม. ชุดปัจจุบันจะต้องไปรับเสด็จในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และทำงานจนกว่า ครม. ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงจะสิ้นสุดการทำงาน และจะเริ่มนับการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน การพ้นจากตำแหน่งของ ครม. ชุดปัจจุบันนับจากวันนั้น.