นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยถึงกรณีอุบัติเหตุถังดับเพลิง ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ระเบิดภายในโรงเรียนราชวินิต ขณะกำลังซ้อมแผนดับเพลิงส่งผลให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งว่า หลังจากได้รับแจ้งเกิดอุบัติเหตุ ทาง สมอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันที โดยพบว่า ถังดับเพลิงที่ใช้ซ้อมดับเพลิง เป็นถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นถังประเภทเดียว ที่ สมอ. ไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ (มอก.บังคับ) จะเป็นมาตรฐานทั่วไป ผู้ประกอบการจะขอ หรือไม่ขอ มอก. ก็ได้ จึงยังไม่มีผู้ประกอบการรายใด ได้รับ มอก.

เปิดคลิปวินาทีระทึก ‘ถังดับเพลิง’ ระเบิดสนั่นรร.ราชวินิตมัธยม นร.กระเด็น10ม.ดับสยอง

ทำให้ สมอ. เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้ถังชนิดนี้ มีความจำเป็นในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจากมาตรฐานทั่วไป เป็นมาตรฐานบังคับหรือไม่ ซึ่งจะมีการทดสอบสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น การทนความดัน ไม่น้อยกว่า 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เมื่อทดสอบถังดับเพลิงจนแตก ต้องทนได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว รวมทั้งการทดสอบการรั่วซึม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากมีการยกระดับมาตรฐานจากทั่วไป เป็นภาคบังคับ ตามขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาจากหลายภาคส่วน เช่น เปิดรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผ่านคณะกรรมการ ผ่าน ครม.    

“ตอนนี้ม อก. ภาคบังคับ สินค้าถังดับเพลิง จะมี 2 ประเภท ประเภทแรก เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว ชนิดโฟม ประเภทที่สอง เครื่องดับเพลิง ชนิดผงเคมีแห้ง ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานการตรวจสอบเท่านั้น เช่น การทนความร้อน เหล็กต้องได้มาตรฐานทนแรงกดดัน เพราะฉะนั้นถังดับเพลิงทั้ง 2 ประเภท ที่ขายในประเทศไทย ต้องได้มาตรฐาน มอก.882-2532 และ มอก.332-2537 เท่านั้น ซึ่งในกรณีการใช้ถังดับเพลิง ไปใช้ในทุกกรณี แนะนำให้ใช้ถังที่ได้มาตรฐาน มอก. จะปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย”