เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.1 พ.ต.อ.ภาสกร รัตนปนัดดา รอง ผบก.ตม.1 และ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ร่วมแถลงข่าวผลการจับกุมนายโกลเด้น อายุ 64 ปี และนางมิยูกิ อายุ 57 ปี สองสามีภรรยา ชาวไต้หวัน ซึ่งทั้งสองมีหมายจับของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หลังร่วมกันก่อเหตุฉ้อโกงผู้เสียหายรวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท และหลบหนีออกจากประเทศเป็นเวลานานกว่า 20 ปี

สืบเนื่องจากชุดสืบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับการประสานจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ว่ามีผู้ต้องหาตามหมายจับทั้งสองรายร่วมกับพวกอีกกว่า 10 ราย ซึ่งมีผู้ถูกจับกลุ่มไปแล้วก่อนหน้านี้ ในฐานร่วมกันหลอกลวงประชาชน โดยพฤติกรรมของสองผัวเมียคู่นี้ เมื่อปี 2543 ได้ร่วมกับพวกรวม 14 คน เปิดบริษัทชื่อ Richmon และหลอกลวงประชาชนในประเทศไต้หวัน โดยอ้างว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัททางด้านการเงินชื่อดังระดับโลก และเปิดให้มีการลงทุนเพื่อแลกกับเปอร์เซ็นต์รายได้สูง จึงทำให้มีคนสนใจร่วมลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในเฉพาะประเทศไต้หวัน มีผู้สนใจร่วมลงทุนรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งคู่ เปิดบริษัทเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนจะปิดบริษัทแล้วหลบหนีออกนอกประเทศไปนานกว่า 20 ปี โดยระหว่างหลบหนี ได้ใช้อุบายปกปิดตัวตน ด้วยการเดินทางไปประเทศเบลีซ ประเทศขนาดเล็กริมทะเลแคริบเบียน ในทวีปอเมริกาเหนือ และมีการลงทุนจนได้รับสัญชาติและหนังสือเดินทางของประเทศเบลีซ มีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่ ก่อนจะเดินทางเข้าไทยเมื่อปี 2561 โดยใช้หนังสือเดินทางเบลีซ จากนั้นยังได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนการตรวจลงตราวีซ่าเป็นประเภท PE โดยการเป็นสมาชิก Thailand Privilege card และหลบซ่อนตัวอยู่ในคอนโดฯ หรูย่านบางนา

จนกระทั่งตำรวจพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 คน คือบุคคลเดียวกับที่ทางการไต้หวันออกหมายจับ จึงได้เพิกถอนวีซ่า ซึ่งเมื่อผู้ต้องหารู้ว่าถูกยกเลิกวีซ่า จึงได้จองตั๋วเครื่องบินและเก็บสัมภาระเตรียมเดินทางไปยังสิงคโปร์แทน แต่ก็ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมได้ก่อน บริเวณลานจอดรถคอนโดมิเนียม ขณะกำลังหลบหนี

สำหรับคดีหลอกระดมทุนบริษัท Richmon ที่ผู้ต้องหาก่อเหตุนั้น ถือเป็นคดีที่โด่งดังมากในไต้หวัน โดยนายโกลเด้นและนางมิยูกิ ได้ร่วมกับพวกกว่า 10 คน ที่ถูกจับกุมไปแล้วก่อนหน้านี้ เปิดบริษัทปลอม รู้จักกันในชื่อบริษัท Richmon โดยอ้างว่าเป็นบริษัทลูกของธนาคาร Richmon ที่อยู่ภายใต้องค์กรเจนีวายุโรป ซึ่งเป็นเครือข่ายสถาบันการเงินการธนาคารที่น่าเชื่อถือระดับสากล และได้รับสิทธิในการควบคุมผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า รับประกันผลตอบแทนให้นักลงทุน โดยผู้ต้องหามีการสร้างงบการเงินและงบกำไรขาดทุนปลอมมารายงานนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเชื่อว่าได้ผลตอบแทนจริง ทุกๆ 2 เดือน ได้กำไรมากกว่า 4% หรือมากกว่า 24% ต่อปี แต่ต่อมานายโกลเด้นกับพวก กลับแจ้งว่าบัญชีของบริษัท Richmon ที่อยู่ในสาธารณรัฐลัตเวียถูกอายัด ทำให้นักลงทุนสูญเงินทุนทั้งหมด ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาทได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า องค์กรเจนีวายุโรป และธนาคาร Richmon ที่นำมากล่าวอ้างแล้ว ไม่ได้มีอยู่จริง

พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวว่า หลังจับกุมนายโกลเด้นและภรรยาได้แล้ว เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน และหัวหน้าแผนกประสานงานอาชญากรรมประจำประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ก็ได้ร่วมสอบปากคำขยายผลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเส้นทางการเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโกลเด้น ตลอดจนเครือข่ายนอมินีในไทย ซึ่งเบื้องต้นพบเป็นอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียมหรูมูลค่า 15 ล้านบาท และเงินสดในบัญชีธนาคารอีก 2 ล้านบาทเศษ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการอายัดทรัพย์สินใด เนื่องจาก ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่ามีการกระทำความผิดภายในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบ ยังไม่พบว่ามีการกระทำผิดภายในประเทศ ส่วนเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของทางผู้ต้องหา ต้องรอเป็นดุลพินิจของศาลอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้ได้มีการพักดันตัวผู้ต้องหาส่งกลับไปที่ประเทศไต้หวันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้ทางไต้หวันเป็นคนดำเนินการทางคดีต่อไป.