เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้ายื่นหนังสือถึง นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับ นายตำรวจ ยศ “พ.ต.อ.” ซึ่งเป็น ผกก. ในจังหวัดนครศรีธรรมราช กับพวก ตาม พ.ร.บ.ปราบปรามการทรมาน และบุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 พร้อมนำพยานมาให้ข้อมูลกับทางพนักงานอัยการด้วย

นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า ตามพยานหลักฐานจากผู้เสียหาย มีความชัดเจนว่าพนักงานสอบสวนเข้าข่ายกระทำการโดยมิชอบ เดิมทีผู้เสียหายเป็นสายสืบให้กับตำรวจชลบุรีและช่วยเหลือตำรวจมาหลายคดีแล้ว แต่เกิดความผิดปกติในคดีการจับกุมผู้ต้องหาในคดีเว็บพนันออนไลน์ คือกลุ่มของนายเป้ เพราะกลายเป็นว่าผู้เสียหายตกเป็นผู้ต้องหาฐานสนับสนุนให้เล่นการพนัน และถูกคุมตัวออกจากบ้านโดยไม่มีหมายจับ

โดยนายอัจฉริยะ ได้นำหลักฐาน ทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐาน เกี่ยวกับการแจ้งความเท็จ ยัดข้อหาให้กับ น.ส.โบว์ (นามสมมุติ) พร้อมอ้างว่า ผู้ที่เป็นคนแจ้งความ คือ ตำรวจที่เป็น 1 ในทีมคณะทำงานของบิ๊กโจ๊ก ที่มีส่วนร่วมในขบวนการรีดทรัพย์แก๊งพนันออนไลน์ 140 ล้าน แล้วไม่ถูกดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหา แต่กลับเป็นคนไปแจ้งให้ข้อมูลกับตำรวจว่า น.ส.โบว์ มีส่วนร่วมกับในการกระทำความผิด

หลักฐานดังกล่าว เป็นหลักฐานที่สร้างเท็จที่อ้างว่า น.ส.โบว์ มีการโอนเงินให้กับบุคคลหนึ่ง (น.ส.อรอุมา) เป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว น.ส.โบว์ ไม่ได้มีการโอนเงินอะไรทั้งสิ้น และนายอัจฉริยะ ยังบอกอีกว่า การที่ “ร.ต.อ.” นายหนึ่ง ยินยอมให้การเท็จเพื่อแลกกับสารวัตรจราจรพัทยา และขบวนการดังกล่าวทั้งหมดนั้น เป็นการฟอกขาวให้กับนายเป้และพวก ที่เป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์ ที่ทำร่วมกับนายชีพ มีเงินหมุนเวียนในเว็บพนันกว่าพันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งนายอัจฉริยะ ได้นำหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายของนายเป้ ที่กำลังเซ็นยอมรับว่าเป็นเจ้าของเว็บพนันจริง และหลังจากนี้ ตนจะไปแจ้งความยัง บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีกับ “ร.ต.อ.” ในข้อหาแจ้งความเท็จ

น.ส.โบว์ ผู้เสียหาย ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ในคดี 140 ล้านบาท แต่ตำรวจชุดที่เข้าไปที่บ้าน ซึ่งเป็นชุดลูกน้องของบิ๊กโจ๊ก ยศ “ผกก.” ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พยายามให้เซ็นเอกสารกว่า 100 แผ่น และพยายามสอบถามว่า รู้จักคนนั้นคนนี้หรือไม่ ซ้ำร้ายยังเอาโทรศัพท์ของเธอไป เพื่อดึงข้อมูลในโทรศัพท์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุด เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นข้อมูลลับ และเกี่ยวข้องกับการธุรกรรมทางการเงินด้วย สุดท้ายเธอต้องเซ็นยินยอมทุกอย่าง เพราะถ้าไม่เซ็นยืนยัน เธอเองก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปดูลูกหรือไม่ อีกทั้งสามีพิการ ก็ต้องมานั่งเฝ้า เพราะกลัวว่าเธอจะไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีตำรวจนอกเครื่องบุกมาที่บ้าน เพื่อทำลายกล้องวงจรปิดที่บ้าน ในช่วงที่หนีขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งก็ยังมีรถสีดำติดฟิล์มทึบ ขับรถผ่านในลักษณะคุกคามและข่มขู่ เธอจึงอยากมาขอความเป็นธรรมในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในขณะที่ น.ส.โบว์ ผู้เสียหาย กำลังให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ได้มีตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ 6-7 นาย นำหมายจับของ ศาลจังหวัดธัญบุรี เตรียมควบคุมตัว น.ส.โบว์ ในข้อหา “สนับสนุนเจ้าพนักงานรับสินบน” แต่ทาง นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน แจ้งกลับไปว่า ไม่ได้ประสานเข้ามาก่อน และที่สำคัญที่นี่เป็นสถานที่ราชการ จึงเห็นว่าไม่สมควรให้ดำเนินการจับกุมภายในสถานที่ราชการ และขอให้อัยการสอบปากคำผู้ร้องให้เสร็จสิ้นก่อน

ด้านนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน รับเรื่องร้องเรียนด้วยตัวเอง พร้อมเปิดเผยว่า ตามหลักการแล้ว ทันทีที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดี จะต้องแจ้งต่อพนักงานอัยการทันที แต่ในกรณีนี้ยังบอกไม่ได้ว่า พนักงานสอบสวนทำผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบในรายละเอียด แต่จะเร่งดำเนินการให้โดยเร็ว

อย่างไรก็ตามภ ายหลัง น.ส.โบว์ ผู้เสียหายรายนี้ให้ข้อมูลกับพนักงานอัยการเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจ สน.ตลิ่งชัน ได้นำหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 28 มิ.ย. มาจับกุมตัวในข้อหา “สนับสนุนเจ้าพนักงานรับสินบน” พร้อมคุมตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ตลิ่งชัน และเตรียมนำตัวไปสอบสวนต่อที่ สภ.คูคต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการไปขอศาลออกหมายจับ น.ส.โบว์ ไว้.