เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ภก.ศศิพงศ์ ทิพย์รัชดาพร เภสัชกรชำนาญการพิเศษ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร ให้สัมภาษณ์ถึงยาแก้องคชาตตาย แก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 20 “สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจไทย” ว่า รพ.พระอาจารย์ฝั้นฯ กำลังศึกษาวิจัยตำรับยาแก้องคชาตตาย ซึ่งมาจากตำรับยาเกร็ด หมวดเวชศาสตร์ จากสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ โดยใช้สมุนไพร 8 ตัวมาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ดีปลี ชะพลู พริกชี้ฟ้า ขิง ลูกจันทน์ กระวาน รากสะแก และกัญชา โดยสัดส่วนจะเป็นกัญชาถึง 50% และสมุนไพรอีก 7 ตัวที่เหลือจะใช้สัดส่วนในอัตราที่เท่าๆ กัน โดยจะนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน โดยในตำรับระบุคุณสมบัติว่า แก้องคชาตตาย หากเทียบกับแผนปัจจุบันคือ อาการโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะที่องคชาตไม่สามารถแข็งตัว หรือคงความแข็งตัวได้ไม่นานพอจนเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์

ภก.ศศิพงศ์ กล่าวว่าในการศึกษาวิจัยจะรับอาสาสมัครผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยว่ามีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อายุระหว่าง 25-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว หรือประวัติแพ้สมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบ ตั้งเป้าไว้ที่ 100 คน ซึ่งตามตำรับจะรับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเช้าเย็น แต่ในการผลิตเราทำเป็นแคปซูลก็จะให้กินวันละ 2-3 แคปซูล และนัดติดตามผลทุก 7 วัน เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อประเมินภาวะการแข็งตัวของอวัยวะเพศและการตอบสนองของอวัยวะเพศต่อยา

โดยจะให้ทำแบบประเมินเรื่องความแข็งตัวขององคชาต ตั้งแต่ระดับ 0 คะแนนที่ไม่ขยายตัว จนถึงระดับ 4 คะแนน ที่ขยายขนาดแข็งขึ้น สอดใส่ได้เต็มที่ ว่าตั้งแต่ก่อนรับประทานยาเป็นอย่างไรและหลังรับประทานยาแตกต่างหรือไม่อย่างไร รวมถึงจะมีแบบทดสอบสมรรถภาพทางเพศที่เป็นแบบวัดสากลในการประเมินผลด้วย ซึ่งจะมีการถามเรื่องต่างๆ เช่น การแข็งตัวบ่อยแค่ไหน มีความต้องการทางเพศบ่อยแค่ไหน มีเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน สอดใส่ได้หรือไม่ ประเมินเรื่องอารมณ์เมื่อมีการเร้า รู้สึกจุดสุดยอดบ่อยแค่ไหน เพื่อวัดประสิทธิผลของยา

“เนื่องจากส่วนใหญ่ความรู้สึกทางเพศของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เหมือนอาการปวด ที่บางคนถูกมดกัด อาจบอกระดับความปวด 2 คะแนน บางคนบอกปวดระดับ 4 การวัดผลจึงใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นตัวกลางประเมินความรู้สึกทางเพศตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังรับประทานยา นอกจากนี้ จะมีการตรวจติดตามความปลอดภัยของยาผ่านห้องปฏิบัติการด้วย ทั้งการตรวจเอนไซม์ของตับ การทำงานของไตมีความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงอาการข้างเคียงอื่นๆ”

ขณะนี้เราได้รับการอนุมัติจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลช่วง ก.ค. นี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาเบื้องต้น 3 เดือน ถ้าศึกษาเบื้องต้นแล้วพบว่า ยามีความปลอดภัยและได้ผลจริงตามที่ระบุไว้ในตำรับยา จะศึกษาขยายผล เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันกับผู้ที่ใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาสมรรถภาพทางเพศ เช่น ไวอากร้า เป็นต้น ว่าประสิทธิภาพประสิทธิผลแตกต่างหรือไม่ ความสามารถในการแข็งตัวเหมือนหรือใกล้เคียงกันอย่างไร คาดว่าจะทราบผลในปี 67 หากสำเร็จก็จะพัฒนารูปแบบยาให้พัฒนาง่ายขึ้น อาจทำเป็นเม็ดตอก และผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ในการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศต่อไป

เมื่อถามถึงสรรพคุณของสมุนไพรที่เป็นตัวส่วนประกอบ มีส่วนช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศอย่างไร เหตุใดถึงใช้กัญชาในสัดส่วนถึง 50% ภก.ศศิพงศ์ กล่าวว่า ที่ใช้กัญชา 50% เนื่องจากเชื่อว่ากัญชาช่วยในเรื่องการผ่อนคลายความเครียด เมื่อกินแล้วจะปรับร่างกาย ผ่อนคลายอารมณ์ ซึ่งความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานทางเพศลดลง นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนวรรณกรรมพบว่า สมุนไพร 5 ตัวในตำรับนี้ พบว่า มีฤทธิ์ส่งเสริมเรื่องสมรรถภาพทางเพศ เช่น ดีปลี สารสกัดมีฤทธิ์ทำให้เกิดแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งต้นในการเปลี่ยนไปเป็นฮอร์เทสโทสเตอโรนของเพศชาย, ชะพลู คุณสมบัติเพิ่มคุณภาพสเปิร์มในหนูทดลอง ดีกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้กิน, พริกชี้ฟ้า มีสารชื่อแคปไซซิน กระตุ้นเลือดในร่างกายให้สูบฉีดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงอวัยะเพศ ช่วยหลั่งสารเอนโดรฟินให้มีความสุขเร้าอารมณ์, ขิง ในสัตว์ทดลอง พบว่า ขิงมีส่วนเพิ่มน้ำหนักของอัณฑะที่เพิ่มขึ้น ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น และลูกจันทน์ เมื่อเอาสารสกัดป้อนหนูทดลองเพศผู้ สามารถเพิ่มความถี่การเข้าผสมพันธุ์กับตัวเมีย เพิ่มการสอดใส่อวัยวะเพศในสัตว์ทดลอง ระยะเวลาในการหลั่ง และมีเพศสัมพันธ์ได้ถี่ขึ้น

ถามว่ายาตำรับนี้มีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ภก.ศศิพงศ์ กล่าวว่า ก่อนการวิจัยเท่าที่มีการทดสอบเบื้องต้น โดยเจ้าหน้าที่ รพ. พบว่า ประเมินแล้วอาการโดยรวมค่อนข้างดี แต่มีในเรื่องของยาที่ทำให้เกิดความรู้สึกร้อนและเหงื่อออก เพราะสมุนไพรมีรสร้อนเป็นส่วนประกอบ ทั้งดีปลี ชะพลู พริกชี้ฟ้า ขิง ดังนั้น ในผู้ป่วยที่รับประทานยาบางกลุ่ม เช่น ยากันชัก ยาขยายหลอดลม หรือกลุ่มที่มีโอกาสยาจะไปตีกันกับยาแผนปัจจุบันต้องหลีกเลี่ยงในการใช้ ซึ่งการจะจ่ายยาตัวนี้ แพทย์ต้องประเมินก่อนว่าสามารถรับประทานได้ ส่วนกรณีถ้ารับประทานยาตำรับนี้ไปแล้ว มีอาการแบบร้อนวูบวาบ อาจแก้ต้องการอาบน้ำ จะช่วยลดอาการร้อนได้.