หลังจากเกิดเหตุระเบิดของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ใต้ทะเลลึกระหว่างดำลงไปเพื่อชมซากเรือ ‘ไททานิก’ ชื่อดัง ทำให้ผู้โดยสารและผู้บังคับเรือรวมทั้งหมด 5 คนเสียชีวิตทั้งหมดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 นั้น หน่วยงานรักษาการณ์ชายฝั่งสหรัฐได้รับหน้าที่เป็นทีมหลักในการเก็บกู้ซากเรือพร้อมด้วยความร่วมมือจากหลายประเทศ ทั้งแคนาดาและฝรั่งเศส

เมื่อมีการปล่อยภาพระหว่างปฏิบัติการเก็บกู้ซากเรือไททันออกมา เผยให้เห็นชิ้นส่วนบางชิ้นที่เก็บกู้ได้ จึงได้มีการสอบถามความเห็นไปยังผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ในการทำให้เกิดการระเบิดในลักษณะที่แรงระเบิดหรือแรงกดของน้ำพุ่งเข้าสู่ภายในวัตถุที่เป็นศูนย์กลางและบีบอัดจนทำให้เรือแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (Implosion) ซึ่งคาดว่าเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน

แจสเปอร์ แกรห์ม-โจนส์ รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมจักรกลทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยพลีมัธ ได้วิเคราะห์จากภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่ปรากฏในข่าว โดยสันนิษฐานว่า ส่วนที่เป็นตัวถังภายในที่สร้างคาร์บอนไฟเบอร์น่าจะพังก่อนชิ้นส่วนอื่น เนื่องจากแรงกดอันมหาศาลที่ใต้ทะเลลึก ขณะที่ภาพของโครงสร้างเรือส่วนที่เป็นไททาเนียมที่เก็บกู้ได้นั้น ยังคงอยู่ในสภาพดี 

ก่อนหน้านี้บริษัทโอเชียนเกตซึ่งเป็นเจ้าของเรือดำน้ำไททัน เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักที่ใช้โครงสร้างของวัสดุ 2 ประเภทผสมกัน คือไททาเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ ขณะที่เรือดำน้ำใต้ทะเลลึกส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไททาเนียมทั้งหมด เพื่อรองรับแรงกดใต้น้ำในระดับมหาศาล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างของเรือดำน้ำไททันไม่มีความแข็งแรงพอที่จะรองรับแรงกดใต้น้ำลึก หลังจากที่ลงดำน้ำไปหลายครั้ง

สำหรับภาพของชิ้นส่วนบริเวณที่เป็นช่องมองของเรือ ซึ่งปรากฏว่าแทบไม่มีอะไรเหลือ นอกจากสายเคเบิลที่ใช้ดึงและยกเรือขึ้นจากน้ำ ส่วนที่เป็นหน้าต่างหรือแผ่นอะคริลิกใสเพื่อให้มองเห็นด้านนอกนั้น หายไปหมด ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ามีการเก็บกู้ขึ้นมาด้วยหรือไม่ แต่ถ้าหากตัวแผ่นอะคริลิกหายไป ก็แสดงว่าจุดนี้เป็นอีกจุดที่พัง ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า โอเชียนเกตได้ใช้แผ่นอะคริลิกเพื่อทำช่องมองที่มีคุณภาพดีพอในการรองรับแรงกดใต้ทะเลลึกถึงเกือบ 4,000 เมตรหรือไม่

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญก็คือ ไม่ปรากฏภาพของการเก็บกู้ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของห้องโดยสารส่วนที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจมี แต่ไม่ได้เผยแพร่ภาพออกมา 

แต่ถ้าไม่มีชิ้นส่วนตัวถังภายในที่เป็นชิ้นใหญ่ ๆ เลย ก็แสดงว่านี่คือจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจุดหนึ่งของเรือ และอาจเป็นจุดแรกที่พังด้วย โดยเป็นไปได้ว่า การใช้เรือลำนี้ดำลงไปที่ความลึกหลายพันเมตรซ้ำ ๆ กัน เจอแรงกดอย่างมหาศาลอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อวัสดุที่ใช้สร้างตัวเรือ อาจทำให้เกิดรอยแตกร้าวซึ่งแม้จะเป็นรอยเล็ก ๆ ก็สามารถกลายเป็นสาเหตุของการระเบิดได้

ข้อสังเกตประการถัดมาก็คือไม่มีชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์อยู่ในซากชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่มาจากภายในตัวเรือ เช่น ส่วนที่เป็นท่อต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่โครงสร้างที่เป็นโลหะของตัวเรือ รองศาสตราจารย์แกรห์ม-โจนส์ ชี้ว่า ข้อต่อและท่อต่าง ๆ เหล่านี้ควรจะมีความแข็งแรงมาก ทำให้เมื่อพุ่งผ่านชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์ระหว่างการระเบิด ก็น่าจะมีเศษคาร์บอนไฟเบอร์ติดอยู่บ้าง 

แต่การที่ไม่มีเศษคาร์บอนไฟเบอร์ติดอยู่ส่วนที่เป็นข้อต่อและท่อเชื่อมต่าง ๆ เลย ทำให้สันนิษฐานได้ 2 อย่างมากว่า ข้อต่อและท่อเชื่อมเหล่านี้เสียหายไปก่อน ปกติแล้ว การเชื่อมต่อชิ้นส่วนเหล่านี้จะใช้กาวอีพ็อกซี่เป็นตัวเชื่อมและต้องทำในห้องไร้ฝุ่น หากกระบวนการส่วนนี้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือใช้ตัวเชื่อมคุณภาพต่ำ ก็จะทำให้เรือมีปัญหาได้

รองศาสตราจารย์แกรห์ม-โจนส์ เชื่อว่าความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือห้องโดยสารคาร์บอนไฟเบอร์เสียหายก่อนเป็นจุดแรก และระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนไม่เหลือเศษตกค้างไว้บนชิ้นส่วนข้อต่อและท่อเชื่อมเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุการระเบิดที่แท้จริงก็ยังคงต้องผลการตรวจสอบหลักฐานและวิเคราะห์อย่างเป็นทางการจากทีมงานที่รับผิดชอบ ซึ่งคาดจะใช้เวลายาวนานราว 1-2 ปี

ที่มา : businessinsider.com

เครดิตภาพ : Twitter / The New York Times