เป็นเรื่องที่น่ายินดี ภายหลัง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ทูตสันถวไมตรีไทย-ศรีลังกา ที่ปฏิบัติหน้าที่นาน 22 ปี ในการแห่พระธาตุประจำปีจนล้มป่วย กระทั่งได้เดินทางกลับถึงโดยสวัสดิภาพ ซึ่งการเคลื่อนย้ายช้างครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในการขนย้ายสิ่งมีชีวิต ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบินมาก่อนด้วย

เปิดภาพประวัติศาสตร์ 22 ปี ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ทูตสันถวไมตรี กลับถึงแผ่นดินไทย

วันนี้ 2 ก.ค. ทีมข่าวเดลินิวส์ จะพามาย้อนเรื่องราว พลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรีไทย-ศรีลังกา ที่ไปปฏิบัติหน้าที่นอกแผ่นดินเกิดนานกว่า 22 ปี จนถึงวันที่ได้กลับแผ่นดินเกิด ทั้งนี้ ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 ประเทศศรีลังกา ได้ขอลูกช้างจากไทย เพื่อหวังนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา มีจัดอย่างต่อเนื่องกว่า 270 ปี รัฐบาลไทยจึงส่งลูกช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นปี 2523 ประเทศไทยได้ส่งช้างเชือกแรกไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือ “พลายประตูผา” ปัจจุบันอายุ 49 ปี

พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็น ช้างเลี้ยง ที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกา ที่ต้องการช้าง ที่มีงาที่โค้งยาว หรือเรียกว่างาอุ้มบาตร เพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว พลายศักดิ์สุรินทร์ มีงายาว ทั้งสองข้าง ถือเป็นช้างที่มีงายาวที่สุดในศรีลังกา ถือเป็นช้างที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหลังจากเดินทางไปศรีลังกาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา” (Muthu Raja) ปัจจุบันมีอายุประมาณ 30 ปี แต่สภาพร่างกายทรุดโทรมกว่าวัย ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี

เรื่องราวของ พลายศักดิ์สุรินทร์ หลังจากเดินทางไปอยู่ศรีลังกา ได้หายไปจากการรับรู้ของคนไทยนานนับ 10 ปี กระทั่ง ปี 2565 องค์กร “Rally for Animal Rights & Environment” (RARE) ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก ถูกล่ามโซ่ มีสภาพผอมโซ มีบาดแผลฝีที่สะโพก และขาบาดเจ็บ ควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน

ทำให้ เรื่องราวของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้กลายมาเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและคนไทยในวงกว้าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของ พลายศักดิ์สุรินทร์ และมีการส่งทีมสัตวแพทย์ไปตรวจสอบสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ ผลจากการตรวจสอบพบว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ มีปัญหาด้านสุขภาพจริง ควรให้ช้างหยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย โดยในเดือน พ.ย.65 ได้มีการย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์มาดูแลในเบื้องต้นที่ “สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา” หรือ “สวนสัตว์เดฮิวาลา” (Dehiwala) กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา

กระทั่งเดือน ก.พ.66 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบ ว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ ควรได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยในความช่วยเหลือดูแลสุขภาพช้าง โดยเห็นชอบให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย

จากนั้นรัฐบาลไทยที่นำโดย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดต่อประสานการนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับมารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาอนุญาตในที่สุด

สำหรับการนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับบ้าน ได้นำช้างขึ้นเครื่องบิน Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ที่ท่าอากศยานนานาชาติเชียงใหม่ ก่อนจะนำไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยงดเยี่ยมอย่างน้อย 30 วัน เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงให้ช้างได้พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ แต่จะมีการไลฟ์เรื่องราวการดูแลรักษา พลายศักดิ์สุรินทร์ ให้ชมกันเป็นระยะๆ ผ่านทาง แฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang

สำหรับการนำ พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับบ้านเกิดประเทศไทย ยังถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจประวัติศาสตร์ เพราะนี่เป็นเป็นครั้งที่ 2 ในการขนช้างข้ามประเทศ โดยครั้งแรกเป็นการขนช้างจากปากีสถานไปกัมพูชา

ขอบคุณข้อมูลและภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช