นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 23 สถานี เริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-45 บาทแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 โดยเด็กซึ่งมีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร และผู้พิการ ยังคงได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร ได้ใช้บริการฟรี ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% ของอัตราค่าโดยสารปกติ อย่างไรก็ตามจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้มีตั๋วโดยสาร อาทิ ตั๋วรายเดือน ตั๋วราคาพิเศษ ที่มีอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารปกติ

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ให้อำนาจบอร์ด รฟม. อาจกำหนดค่าโดยสารที่ต่ำกว่าปกติ หรือยกเว้นค่าโดยสารที่กำหนดได้เป็นครั้งคราว อาทิ วันพ่อ และวันแม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า รวมทั้งยังให้มอบส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร สำหรับรถไฟฟ้าสายอื่นมายังรถไฟฟ้าสายสีเหลืองด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าว ให้เสนอผ่านบอร์ด รฟม. พิจารณาได้เลย ไม่ต้องเสนอ ครม. พิจารณาอีก อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ขร. จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมากำชับถึงแนวปฏิบัติตามมติ ครม. อีกครั้ง โดยเฉพาะส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ที่สถานีหัวหมาก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรงนั้น เนื่องจากขณะนี้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย จึงไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าอยู่แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ รฟม. ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้แล้วสำหรับการจ่ายเงินค่าสนับสนุนงานก่อสร้างปีละ 2,505 ล้านบาท ให้กับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ รฟม. ต้องจ่ายเงินก้อนแรกให้กับผู้รับสัมปทานภายใน 45 วัน หลังจากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ หรือไม่เกินกลางเดือน ส.ค. 66 โดย รฟม. ต้องจ่ายเงินดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี (ปี 2566-2575) รวม 25,050 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของรายได้จากการเปิดให้บริการเดินรถแบบเชิงพาณิชย์นั้น รายได้จะเป็นของ EBM ทั้งหมด แต่ตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไป จนครบสัญญาสัมปทาน 30 ปี หรืออีก 20 ปี (ปี 2576-2595) ทาง EBM ต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับ รฟม. จำนวน 250 ล้านบาทด้วย แบ่งเป็น ในปีที่ 11-15 (ปี 2576-2580) ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ รฟม. ปีละ 5 ล้านบาท ขณะที่ปีที่ 16-20 (ปี 2581-2585) ปีละ 10 ล้านบาท, ปีที่ 21-25 (ปี 2586-2590) ปีละ 15 ล้านบาท และปีที่ 26-30 (ปี 2591-2595) ปีละ 20 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า รฟม. จะมีตัวชี้วัดในการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของ EBM ทุกปี หากในปีใดพบว่า ประสิทธิภาพการให้บริการไม่ผ่านการประเมิน จะมีบทลงโทษเป็นค่าปรับ และส่งผลต่อการจ่ายเงินค่าสนับสนุนงานก่อสร้าง ที่จะทำให้ได้รับค่าสนับสนุนงานก่อสร้างในปีนั้นๆ ลดลงด้วย ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้เป็นหลักเกณฑ์ปกติที่ปฏิบัติกับรถไฟฟ้าทุกสายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. อยู่แล้ว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของอัตราค่าโดยสารนั้น เริ่มเก็บในอัตรา 15-45 บาท จากนั้นจะปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นทุก 2 ปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน ซึ่งตามปกติแล้วจะปรับขึ้นประมาณ 1 บาท และปรับขึ้นบางสถานี เพราะเมื่อนำมาคำนวณแล้ว หากสถานีใดมีเศษต่ำกว่า 0.5 ก็จะปัดลง จึงทำให้บางสถานีเก็บค่าโดยสารในราคาเท่าเดิม.