เพราะ…นอกจากวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 แล้ว ต้องมารอดูด้วยว่า ในวันที่  25 ก.ค. 66 พรรคเพื่อไทยจะลงมติเสนอชื่อ “เศรษฐา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยหรือไม่? โดยสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ “กำแพง” ของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว. เกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 ที่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องคิดหนัก แล้วยังผนวกรวมเข้ากับ “เอ็มโอยู” 8 พรรคร่วมที่เป็นสัญญาใจ ก่อนหน้านั้นกำลังกลายเป็นเงื่อนตายที่ทำให้การ “พลิกขั้ว” แบบสุภาพบุรุษนั้นจะดำเนินการไปในทิศทางใด?

หากมีการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามที่มีกระแสข่าวกันออกมา โดยที่มีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มั่นใจกันว่า บรรดาส.ว.จะฉลุย หรือตั้งป้อมคัดค้าน หากสะดุดเสียง ส.ว.เข้าให้อีก โอกาสของการเสนอชื่อ “เศรษฐา” อีกครั้งก็ยิ่งริบหรี่ ขณะเดียวกันเวลานี้ ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวการผลักให้พรรคก้าวไกล ที่โกยคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งได้สูงสุดถึง 14 ล้านคะแนนเสียง กลายไปเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้น หนาหูกันมากขึ้นทุกวัน

เพื่อไทยกระอักกระอ่วน

ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยก็กระอักกระอ่วน!! ไม่น้อยทีเดียว แม้หลายฝักหลายฝ่ายจะมองว่า “เข้าทาง” อยู่แล้วก็ตาม!!

สถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนแรงในเวลานี้ สุดท้ายแล้วจะไปลงเอยที่จุดใด? ได้กลายเป็นที่จับจ้องของสายตาคนไทยแทบทุกคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาภาคธุรกิจ บรรดาภาคการลงทุน ที่ดูจะดี๊ด๊าไม่น้อย เมื่อมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย จะกลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกล สะท้อนให้เห็นจากดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ในวันที่ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถูกสกัดกั้นจาก ส.ว.ไม่ให้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันโหวตวันแรกหรือเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา แถมยังมาถูก “ปิดสวิตช์” โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จากกรณีการถือหุ้นสื่อ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 กลายเป็นว่า…หุ้นไทยยังปิดบวกได้โดยเพิ่มขึ้น 2.88 จุด และยังคงปิดเขียวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 

หุ้นไทยสะท้อนเชื่อมั่น

เรื่องนี้…ผิดกับในช่วงหลังวันเลือกตั้ง (15 พ.ค. 66)  ที่พบว่าหุ้นไทยดิ่งเหวจากการเทขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองรวมไปถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ต้องการล้างทุนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าทยอยพากันขายออกลดความเสี่ยงมาเรื่อย ๆ ไม่ตอบรับมานานเกือบ 1 เดือน ขณะที่ฝั่งนักลงทุนต่างชาติ นับตั้งแต่ต้นปีก็เทขายหุ้นไทยออกมาแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงหลังการเลือกตั้งจนถึงวันที่มีการโหวตเลือกนายกฯครั้งแรก (15 พ.ค.-13 ก.ค.) 

ที่ผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปมูลค่าสุทธิ 47,471.35 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของการขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี แสดงให้เห็นว่าต่างชาติยังไม่มั่นใจการลงทุนหุ้นไทยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และไม่ตอบรับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล จากนโยบายหาเสียง ประสบการณ์การบริหารประเทศ

คาดดัชนีทะยาน 1,720 จุด

อย่างไรก็ตาม การไปไม่ถึงดวงดาวของนายพิธานั้น ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นต่างออกมาคาดคะเนสถานการณ์การเมืองกันใหม่โดยจับจ้องไปที่ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีคะแนนเสียงเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 2 โดยมองใน 3 กรณี คือ 1. หากพรรคเพื่อไทยได้โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 8 พรรคร่วมปัจจุบัน 310 เสียง มองความชัดเจนทำให้ดัชนีหุ้นเคลื่อนไหวได้ในระดับ 1,680-1,720 จุด

ส่วนกรณีที่ 2 หากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำแทนขณะที่พลิกขั้วไปจับมือกับพรรคว่าที่ฝ่ายค้าน มองดัชนีหุ้นอยู่ในกรอบ 1,620-1,680 จุด แต่มีความเสี่ยงการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นจนมีความตึงเครียดกว่า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มบริโภคภายในจนกว่าการชุมนุมจะสิ้นสุด และกรณีที่ 3 การจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะเสียงข้างน้อย จากว่าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบันคาดว่าจะกดดันหุ้นจากทั้งการขับเคลื่อนนโยบายขาดเสถียรภาพและมีความเสี่ยงการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นมีความตึงเครียดมากสุดในทุกกรณี ประเมินดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,350-1,460 จุด

นอกจากนี้บรรดาหุ้นกลุ่มต่าง ๆ ที่จะได้รับอานิสงส์ดีดตัวขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นหุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร กลุ่มอสังหา ริมทรัพย์ รวมไปถึงหุ้นกลุ่มการเมือง อย่าง แสนสิริ เอสซีแอสเสท และแอดวานซ์ และถ้าหากเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงจนต้องเผาบ้านเผาเมืองซ้ำรอยประวัติศาสตร์หน้าเดิม ๆ ของสงครามสีเสื้อ ก็ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มท่องเที่ยว ย่อมได้รับผลดีตามไปด้วย

ห่วงค่าแรงกระทบต้นทุน

แต่!! ใช่ว่ากระแสเสียงจะมีเฉพาะ “เสียงตอบรับ” จากที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เท่านั้น กระแสเสียงแสดงความ “เป็นห่วง” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการทั้งหลาย เพราะอย่าลืมว่า… หนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ก็คือ เรื่องของ การเพิ่มค่าแรง 600 บาท ในปี 70 รวมไปถึงการเพิ่มเงินเดือนให้กับคนที่จบปริญญาตรี รวมถึงคนทำงานข้าราชการ ต้องได้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือเท่ากับมีรายได้อย่างน้อย 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี รวมไปถึงการพักหนี้ให้กับบรรดาเกษตรกร ทั้งต้น…ทั้งดอก เป็นเวลา  3 ปี

อย่าลืมว่า การขึ้นค่าแรง!! เป็นเงินของภาคเอกชนล้วน ๆ จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงต่อต้านออกมาไม่น้อย ต่อให้รัฐบาลมีแรงดึงดูดทางภาษีมาหลอกล่อก็ตาม ที่สำคัญเชื่อเถอะเมื่อต้นทุนขึ้น ภาคเอกชนย่อมไม่แบกภาระไว้ทั้งหมดแน่นอน ย่อมต้อง
ปัดภาระมาให้ประชาชนโดยส่งผ่านมาทางราคาสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนสัจธรรมของแรงงาน ที่การขึ้นค่าแรงมักไม่ครอบคลุมกับสารพัดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

เพื่อไทยดันจีดีพีโต 5%

หากแยกมาดูเฉพาะเรื่องค่าแรง 600 บาท ก็ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายแม็คเน็ตที่ “ได้ใจ” บรรดาพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้
เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว แต่ในมุมของภาคเอกชนนายจ้างแล้ว ดูเหมือนประวัติศาสตร์เตรียมซ้ำรอยเหมือนในช่วงค่าแรง 300 บาทของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 55 ที่สุดท้ายเมื่อบังคับใช้อย่างจริงจังก็ล้มหายตายจากไปจำนวนไม่น้อยทีเดียว ต่อให้ ณ เวลานี้ ภาคเอกชนหันมาใช้เอไอ หันมาใช้หุ่นยนต์เพื่อลดต้นทุนกันไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง แรงงานมนุษย์ ก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นต้องใช้อยู่ต่อไปเช่นกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก่อนที่ค่าแรงจะขึ้นไปจนครบ 600 บาท แต่ระหว่างทางปัญหาค่าครองชีพคงทะยานขึ้นไปล่วงหน้ากันก่อนแล้วสุดท้ายคนไทย ผู้ใช้แรงงานก็ต้องแบกรับภาระอยู่ดี

ไม่เพียงเท่านี้ “พรรคเพื่อไทย” มีเป้าหมายหลักที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่ำปีละ 5% แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดนั้นไม่ได้สวยหรู เพราะอุปสรรคขวากหนามมีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า ที่ไม่ได้เป็นใจให้รัฐบาลชุดใหม่บริหารงานได้แบบชิลชิล ในเมื่อเศรษฐกิจโลกสะดุดก็ฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการส่งออกที่กำลังเหือดหาย ไม่อู้ฟู่เหมือนเก่าก่อน หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ปีนี้การส่งออกไทยเดี้ยงหนักแน่ ๆ เพราะนอกจากไม่ขยายตัวแล้วอาจติดลบไปด้วยซ้ำ ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดหวังให้เข้ามาช่วยประคับประคองต่อเนื่อง ก็ยังไม่ส่องสว่างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนโควิด แถมสัดส่วนรายได้ยังเทียบไม่ได้กับรายได้จากการส่งออก

หวั่นกู้เงินปั่นเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันการผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ทั้งเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างที่คาดหวัง เพราะอย่าลืมว่าช่องว่างของการใช้เงินของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ ก็มีอยู่น้อยนิด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลของลุงตู่ได้ใช้เงินไม่น้อยในการกอบกู้เศรษฐกิจ ในการดูแลปากท้องคนไทย หากเงินรายรับของประเทศที่เข้ามายังไม่สามารถดูแลรายจ่ายได้ สุดท้ายก็ต้อง “กู้”

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องรอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยอีกครั้งว่าจะ “ปั่นเศรษฐกิจ” ให้ฟูฟ่องได้มากน้อยเพียงใด?

ไม่อยากเห็นคนไทยจนตลอด

สมชาย พรรัตนเจริญนายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย มองว่า หากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลอยากให้ช่วยทำให้ระบบการค้าที่อยู่ในมือนายทุนไม่กี่คน กระจายให้กับทุนเล็กเช่นเดียวกันนโยบายของพรรคก้าวไกล เพื่อให้ทุนเล็กสามารถแข่งขันได้ ไม่อยากเห็นคนไทยเป็นคนจนไปตลอดด้วยนโยบายการแจกเงิน และจากนโยบายใส่เงินดิจิทัลของเพื่อไทย 10,000 บาทนั้น ก็ไม่เห็นด้วย อยากให้คิดวิธีการใหม่ให้คนรู้จักประกอบอาชีพเองภายใต้เงื่อนไขพิเศษ เช่น ลดหย่อนภาษี ช่วยให้คนตัวเล็กทำงานได้คล่องตัว ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงหลังจากนี้ คาดว่าจะเป็นไปตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย และหากมีการปรับขึ้นราคาสินค้าก็มองว่าเป็นไปตามภาวะกลไกตลาด หากมีเศรษฐกิจที่ดีมีความมั่นคง ยังไงคนก็มีกำลังที่จะซื้อ แต่ในทางกลับกันตอนนี้ต่อให้ของถูกแต่คนไม่มีกำลังซื้อยังไงก็ขายไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเป็นตัวเป็นตนโดยเร็ว และหากตั้งได้สำเร็จจะได้มีคนมาทำหน้าที่เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะดีกว่า ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลจริงก็จะได้รู้ว่าทีมเศรษฐกิจจะมุ่งหน้าเน้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้ระบบต่าง ๆ ในแผนงานมีครบแล้ว เพียงรอรัฐบาลใหม่เข้ามาให้เร็วที่สุดและไม่อยากให้ล่าช้าออกไปอีกเพราะจะส่งผลกระทบตามมาอีกเยอะ

ดึงเชื่อมั่นเอกชนลงทุน

“จันทรา พงศ์ศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้พร้อมดื่ม ยี่ห้อดีโด้ ระบุว่า การเมืองทุกประเทศต้องรู้จักประตูเข้าออกให้ดีหากได้คนใหม่ ๆ เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอาจต้องใช้เวลาทำความรู้จักและดูการทำงานอย่างน้อย 2 รัฐบาลเป็นการเรียนรู้ว่าควรจะเข้าออกประตูอย่างไร และหากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำก็จะรู้ช่องทางเข้าออกได้ดีกว่าเพราะอยู่ในการเมืองมากว่า 10 ปี ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน แต่ระยะยาวจะต้องติดตามว่าเอื้อให้ใคร ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท นั้น ไม่ได้กังวลเนื่องจากได้เตรียมการรับมือล่วงหน้าในหลายกลยุทธ์แล้ว อาทิ การปรับขนาดสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ รวมไปถึงการเพิ่มการติดตั้งเครื่องจักรซึ่งช่วยลดแรงงานไปได้ 1 ใน 3 จากปัจจุบันที่มีแรงงานประมาณ 1,500 คน โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้ได้มีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ไปแล้ว 200-300 ล้านบาท

“ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทค่อนข้างน้อยหากไม่ถึงขั้นมีการชุมนุมรุนแรงหรือเกิดการนองเลือด แต่อาจจะไปกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมากกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากการเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้นก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวได้ เนื่องจากคนขาดความเชื่อมั่นและไม่จับจ่าย แน่นอนว่าหากสถานการณ์การเมืองของไทยมีเสถียรภาพและนิ่งก็เป็นผลดีต่อการลงทุน และเศรษฐกิจจะเดินหน้าตามไป.

ทีมเศรษฐกิจ