เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้โฟนอิน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ใจความสรุปสาระสำคัญได้ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาส่วนหนึ่งไปประสานพูดคุยกับทาง สว. ซึ่งจะได้บทสรุปในมาพูดคุยหาแนวทางกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เราได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ ทั้งนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนการทำงานของพรรคเพื่อไทย ใน 2 ประเด็น คือ 1. เราเชิญมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขของ 8 พรรค พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงเพิ่ม ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งรัฐบาล และ 2. รูปแบบที่พรรคเพื่อไทยทำ หลายคนไปตีความว่าเราไปกดดัน ไปผลักดัน ตอนแรกเราคิดถึงธรรมเนียมเดิมตามพรรคต่างๆ ก็กลัวจะตีความว่าเราไปส่งเทียบเชิญ เพราะตามธรรมเนียมเดิม คือ ถ้าจะเทียบเชิญไปร่วมรัฐบาล จะต้องไปหาเขา เหมือนกับไปสู่ขอ เลยต้องขอให้พรรคภูมิใจไทยมาที่พรรค ดังนั้น สัญลักษณ์มันชัด

ทั้งนี้การพูดคุยกับ 5 พรรค วิธีการก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเหมือนกลับมาให้พรรค 5 ล้วนไม่เอา พรรคก้าวไกล เหมือนมาให้พรรคเหล่านี้มาประกาศและกดดันพรรคก้าวไกลในทางอ้อม ซึ่งยอมรับว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางความคิดของคน ทั้งนี้มีหลายพรรค มีเงื่อนไขเรื่อง ม.112 เรารับโจทย์ในทางประชุมว่า ไปถามในรายละเอียดว่าจะลดเงื่อนไขอย่างไร เพื่อให้ที่ประชุม 8 พรรค มาพิจารณา และเพื่อให้พรรคก้าวไกลนำเอารายละเอียดเหล่านั้นไปพิจารณาว่าจะตอบคำถามตรงนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากทั้ง 5 พรรคแล้ว ซึ่งจะเป็นคำตอบที่จะไปตอบ 8 พรรคต่อไป ยอมรับว่าคำตอบก็คือ ไม่ใช่เฉพาะ ม.112 แต่ 4 พรรคมองว่าไม่สามารถร่วมงานพรรคก้าวไกลได้ เพราะแนวทางวิธีการไม่ตรงกัน มีแค่พรรคชาติพัฒนากล้าเท่านั้น ที่ร่วมงานพรรคก้าวไกลได้ แต่ต้องไม่แตะ ม.112

ทั้งนี้ นายสรยุทธ ถามว่า เมื่อไม่ได้เสียง สส. แล้ว เหลือคณะทำงานที่ไปหาเสียงสนับสนุนจาก สว. ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเคยบอกว่าถ้าจะโหวนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ต้องมั่นใจว่าจะต้องได้ ถ้าเป็นไปตามแนวโน้ว เสียง สว. ไม่ได้ ทำให้ 8 พรรค มีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.พรรคก้าวไกล ยอมเสียงสละออกไป จะได้ทั้งเสียงจาก สส. และได้เสียงจาก สว. มาเติมด้วย จะได้ตั้งรัฐบาลแน่ 2. ยืนหยัด 8 พรรคแล้วรอให้ สว. หมดอำนาจ โดย นพ.ชลน่าน กล่าวยอมรับว่าใช่ แต่อาจจะมีแนวทางอื่น ตนพยายามอยู่ว่าจะมีแนวทางใดที่ 8 พรรคร่วมยังอยู่ด้วยกัน หรืออย่างน้อยหลักสำคัญยังมีพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลจับกันอยู่ และพยามยามมุ่งมั่นหาคะแนนเพิ่ม หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นที่มีคนเสนออีก เช่น พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคอันดับหนึ่ง เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดไม่ได้ ในเมื่อเราหมดปัญญาแล้ว ทำไมไม่ส่งต่อให้คนอื่น ก็คือพรรคอันดับสาม นั่นหมายความว่าเรายกเสียงข้างมากเราไปให้เสียงข้างน้อย

“แต่พี่น้องประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ถ้าเทียบคะแนน เขาไม่ได้เห็นคล้อยตามที่เราเสนอ เราซึ่งหมายถึงพรรคซีกเสรีประชาธิปไตย ซึ่งผมวัดจากคะแนน ขณะที่ถ้าเราไล่เรียงกันของเขา 10 พรรคที่มัดกันแน่ ถ้ารวมเป็น 1 พรรค ได้ 188 เสียง เขาเป็นอันดับ 1 นะ ในสภา พรรคก้าวไกล เป็นอันดับสอง ได้ 151 และพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 3 คือได้ 141 เมื่อเราไม่ได้เสียข้างมากเด็ดขาด จึงมีความลำบากสักนิด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นภาพว่าทำไม พรรค พท. ถึงรณรงค์แลนด์สไลด์ เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด สิ่งที่เราได้รับมามันไม่ถึงเป้า ต้องรับสภาพ หาวิธีการดำเนินการให้ดีที่สุด“ นพ.ชลน่าน กล่าว

แต่ทั้งหลายทั้งปวง หลังจากที่พูดคุยกันในวัน 25 ก.ค. ก็จะเป็นข้อวิเคราะห์ ข้อตัดสินว่าเราเดินอย่างไร ส่วนทางเลือกที่สอง คือ มัดกันแล้วรอจังหวะเวลา ซึ่งรอได้ระดับไหน มันก็มีระดับ เช่น รอ 11 เดือน รอ 1-2 อาทิตย์ ซึ่งมีความหมายต่างกันเยอะ ต้องไปพิจารณา อย่างไรก็ตามทางเลือกที่ 2 ภายใต้เงื่อนไขที่เราเอาประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่แค่พรรค พท. ที่เห็นว่ามันเป็นปัญหากับประเทศชาติ และประชาชนคาดหวังว่าเลือกตั้งมาแล้ว ต้องมีรัฐบาลของประชาชน มาแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลรักษาการทำงานลำบากภายใต้เงื่อนไขนี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ต้องพูดถึงพัฒนา ถ้าเราจะปล่อยมันก็มีความลำบาก ซึ่งเป็นข้อสรุปของพรรคเพื่อไทยที่มองจากทุกมิติโดยรวม

ส่วนประเด็นคนจะมองว่า พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคที่ถูกกล่าวหา ว่าไปร่วมเป็นนั่งร้านให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ปิดสวิตช์ 3 ป. ถ้าเป็นอย่างนั้น โดนแน่ๆ โดยเฉพาะไปยกอำนาจให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ อันนี้เต็มๆ แม้ให้พรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ และให้พรรคเหล่านั้นร่วมรัฐบาล ก็จะโดนอยู่ดี โจทย์เหล่านี้ เรามาคำนวณใคร่ครวญคิดอย่างรอบคอบ เราเคยอภิปรายไว้ในสภาไว้ชัดว่าเรื่องเด็ดหัว สอยนั่งร้าน แต่เราใช้กลไกทุกอย่างเพื่อขออำนาจจากประชาชน แต่พวกเราไม่มีใครได้อำนาจเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในวันที่ 25 ก.ค. ถ้าไม่มีข้อสรุปที่ดี ยังไม่ตัดสินว่าจะไปไหน เช่น พรรคเพื่อไทยกระโดดตั้งข้ามฝาก ซึ่งสมมุติฐานนี้ทุกฝ่ายทุกคนเห็นว่าไม่ดี เรามาจากประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน และถ้าไม่มีทางออกที่เสียน้อยที่สุด เช่น จำเป็นต้องเอาเสียงฝั่งโน้นมาบวก โดยมีเงื่อนไขที่ทุกพรรคพอรับได้ มันก็อาจจะเป็นทางออก ซึ่งทุกพรรคที่วางกติการไว้ ก็เพื่อบ้านเมืองทุกสิ่งที่อย่างคำนึงถึงประโยชน์โดยรวม ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง ปลดเงื่อนไข และหันหน้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนไปก่อน มั่นใจว่าจะมีทางพอที่จะรับได้

ทั้งนี้วันที่ 27 ก.ค. จะขอเลื่อนการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วันที่ 25 ก.ค. จะเป็นตัวตัดสิน ถ้าวันที่ 25 ก.ค. ยังไม่มีแนวทางที่น่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อาจจะเลื่อนไปสักสัปดาห์หนึ่งก่อนหรือไม่ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนถ้าพรรคก้าวไกลยืนยันขอให้จับแน่น 8 พรรค ถ้ามีข้อเสนอเช่นนั้น เราต้องมาทำงานต่อว่าเราจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร ส่วนจะต้องให้พรรคก้าวไกลถอยอะไรหรือไม่ มองว่า พรรคเพื่อไทยเป็นคนบอกกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่จะเอาข้อมูลข้อเท็จจริงให้ 8 พรรค และจะต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกลตัดสิน.

ขอบคุณข้อมูล รายการเรื่องเล่าเช้านี้