จากกรณี “115 อาจารย์นิติศาสตร์” ทั่วประเทศไทย จับมือออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย ภายหลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภามีมติชี้ว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ นั้น เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งได้ โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว มีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวนั้นทำให้มติรัฐสภายิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อันจะทำให้การสอนลำดับชั้นของกฎหมาย ยากที่จะทำได้ จนเป็นที่พูดถึงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์นั้น
-115 อาจารย์นิติฯทั่วไทยจับมือแถลงการณ์ ลั่นมติรัฐสภาทำการเมืองอยู่เหนือหลัก ก.ม.

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. แฟนเพจ @ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยระบุว่า “จดหมายฉบับนี้เป็นของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้รับการตักเตือนจากมหาวิทยาลัย ภายหลังจากการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ 115 คณาจารย์นิติศาสตร์จาก 19 สถาบัน” ทั้งนี้ แอดมินได้เอาชื่อจริงของผู้เขียนออก เพื่อสวัสดิภาพและความมั่นคงในการงานของผู้เขียนตัวจริง

จดหมายเปิดผนึก ถึงมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของข้าพเจ้า จากกรณีที่ข้าพเจ้าได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน เรื่องไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภาที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยรู้สึกไม่สบายใจและได้มีการตักเตือน (อย่างไม่ทางการ) มานั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงใน 2 ประเด็นดังนี้

1.แถลงการณ์ 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ข้างต้น คือการเห็นพ้องร่วมกันของคณาจารย์นิติศาสตร์ ที่ไม่ว่าฟากไหนหรือสีใดล้วนต่างมองว่า การที่ประธานรัฐสภาเปิดให้มีการโหวตและลงมติจนกระทั่งเกิดเป็นประเด็นข้อบังคับรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นปัญหาอย่างมากต่อวงการนิติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะในประเด็นเชิงหลักการอย่างเรื่อง “ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย” ที่ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่างมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุด กฎหรือข้อบังคับอื่นใดที่มีลำดับต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ นี่คือหลักการที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลกต่างเข้าใจและยึดถือปฏิบัติอย่างเป็นสากล

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าบัดนี้ข้อบังคับรัฐสภาซึ่งเป็นกฎหมายในลำดับชั้นที่ต่ำกว่ากำลังขัดแย้งต่อหลักการของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะหากลองพิจารณาที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 จะเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้ห้ามไว้แต่ประการใดว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจะกระทำไม่ได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นปัญหาในเชิงหลักการอย่างชัดเจน ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือเป็นการเชียร์ใครเป็นพิเศษแต่อย่างใด ข้าพเจ้าจึงมองไม่ออกว่าการร่วมลงนามในแถลงการณ์ 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรหรือสร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยอย่างไร

ตรงกันข้าม ข้าพเจ้ากลับมองว่าในฐานะอาจารย์กฎหมายคนหนึ่ง ควรต้องรีบลงนามอย่างยิ่งเพื่อยืนหยัดปกป้องหลักการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องวิชาชีพกฎหมาย และเพื่อแสดงให้มหาวิทยาลัยอื่นเห็นว่ามหาวิทยาลัยของเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะผมเองก็อยากให้นิติศาสตร์ของเราทัดเทียมกับนิติศาสตร์ที่อื่น เพราะฉะนั้น การกระทำของผมทั้งหมดจึงล้วนมาจากความตั้งใจที่ต้องการจะยึดมั่นในหลักการ เพราะหากยังปล่อยให้มีการบิดเบือนหลักการแบบนี้อยู่เรื่อยๆ การเรียนการสอนนิติศาสตร์คงทำได้ยาก และคงไม่สามารถตอบคำถามหรืออธิบายให้นักศึกษาเข้าใจได้ว่าทำไมข้อบังคับของรัฐสภาจึงใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

2.แม้ข้าพเจ้าจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นทำให้มหาวิทยาลัยไม่สบายใจอย่างไร แต่ในฐานะอาจารย์ในสังกัดของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามในสิ่งที่มหาวิทยาลัยบอก โดยหลังจากนี้ทุกการเคลื่อนไหว (ทางการเมือง) ทุกงานที่ปฏิบัติ ฯลฯ ผมจะทำในนามส่วนตัวทั้งหมด จะไม่มีการนำชื่อของมหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ข้าพเจ้าขอเรียนว่านี่ไม่ใช่การประชดประชัน หากแต่เป็นความต้องการที่ข้าพเจ้าอยากจะรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ข้าพเจ้ายินดียุติทุกการเคลื่อนไหวรวมถึงยุติทุกกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ (ที่อาจส่งผลเสียต่อมหาวิทยาลัย) ข้าพเจ้าเคารพในความเห็นต่างและจุดยืนที่มหาวิทยาลัยเลือก

ดังนั้น ข้าพเจ้าขอพูดชัดๆ อีกทีครั้งว่า ข้าพเจ้าขออภัยต่อมหาวิทยาลัย คณบดี เพื่อนอาจารย์ในโปรแกรมวิชานิติศาสตร์ รวมถึงทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ข้าพเจ้าได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว จากนี้หากมีการลงนามในแถลงการณ์อื่นๆ หรือการแสดงความคิดทางวิชาการในประเด็นต่างๆ ข้าพเจ้าจะไม่นำชื่อของมหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ทุกเรื่องหลังจากนี้ ข้าพเจ้าจะกระทำในนามส่วนตัวทั้งหมด และหากมีอะไรเกิดขึ้นข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ด้วยความเคารพ อาจารย์มหาวิทยาลัยชายขอบคนหนึ่ง..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง