เมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 นายชัย วัชรงค์ หรือ “หมอชัย” นักวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ในฐานะคณะกรรมการทางด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าโครงสร้างภาคการเกษตรของไทยเรานั้น มีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกเดือดที่กำลังคืบคลานเข้ามาคุกคามในรูปของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เอลนีโญ”

ถามว่าโครงสร้างอะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของภาคการเกษตรของไทย แล้วจะมีแนวทางป้องกันแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง (Solution) เพื่อเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรไทยจากที่เป็นภาระ…ไปเป็นพลังทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยได้ ข้างล่างนี้คือคำตอบ

1.ประเทศไทยมีต้นทุนน้ำฝนในแต่ละปีสูงมาก (กว่า 750,000 ล้านลบ.ม.) แต่เรากักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้น้อยเกินไป (เก็บบนดินได้ไม่เกิน 70,000 ล้านลบ.ม. ใต้ดินไม่เกิน 110,000 ล้านลบ.ม. ที่เหลือไหลทิ้งลงทะเลหมด) ทำให้เรามีพื้นที่ชลประทานเพียง 35 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตรทั่วประเทศเกือบ 150 ล้านไร่ ต้องเร่งลงทุนขยายพื้นที่ชลประทานอย่างจริงจังให้ได้เพิ่มอีก 15 ล้านไร่ใน 4-8 ปี

2.ประเทศไทยไม่เคยตรวจพื้นฐานสุขภาพของดินในประเทศอย่างจริงจังทั่วประเทศเลย พื้นฐานที่ว่านี้ คือ ความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการผลิด ดังนั้นต้องปูพรมตรวจและปรับปรุงค่า pH ของดินทั่วประเทศทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนไม่มาก

3.ภาคเกษตรของไทยไปติดหล่มอยู่กับการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก แต่ให้ผลตอบแทนต่อไร่ต่ำ นั่นคือเราใช้พื้นที่ปลูกข้าว (ซึ่งต้องใช้น้ำสูงมาก 1,200-1,500 ลบ.ม.ต่อไร่ แต่ทำรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี) มากถึง 60-70 ล้านไร่ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เปลี่ยนไปผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่าอย่างน้อย 2-3 เท่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง หญ้าเลี้ยงวัว เป็นต้น

4.เกษตรไทยกว่า 90% ยังคงผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย-เล็กที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างสูงวัยและยังคงผลิตแบบดั้งเดิม มีการใช้เทคโนโลยีต่ำ ที่สำคัญคือ ผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาด จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรก้าวหน้าแม่นยำ ยึดหลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเอกชนการเกษตรที่ทันสมัยอยู่แล้ว ทำการผลิตและการตลาดในรูปแบบของหุ้นส่วนที่เป็นธรรม นำไปสู่ผลผลิตที่สูงขึ้น ขายได้ราคาดีขึ้น และเหลือรายได้สุทธิแบ่งปันกันเข้ากระเป๋าดีขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า win-win happy-happy กันทุกฝ่ายทั่วหน้า

5.เกษตรไทยเข้าถึงทุนได้น้อย ต้องเร่งแปลงสินทรัพย์เป็นทุนด้วยการเร่งออกโฉนด 50 ล้านไร่ ให้กับที่ดินที่ติดกับอยู่ในรูปของ สค.1 หรือ ส.ป.ก. หรือป่าเสื่อมโทรม การแปลงเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้เป็นโฉนดนั้น จะเป็นยุทธศาสตร์ชั้นเลิศในการปลดปล่อยศักยภาพของมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นเม็ดเงินทุนขนาดมหาศาลที่จะถูกฉีดเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมามีพลวัตแรงกล้าอีกครั้ง นี่คือยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตรของไทย จากเกษตรดั้งเดิมที่เปราะบาง ไปสู่เกษตรก้าวหน้าแม่นยำที่แข็งแกร่งเหนียวแน่น สามารถจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลย

#เกษตรก้าวหน้าแม่นยำ#เอลนีโญ#หุ้นส่วนการเกษตรที่เป็นธรรม