เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 4 ส.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 คน ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ผู้เซ็นเอกสารออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดฯ แอชตัน อโศก โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุเทพมหานคร และนางรัชฎา คชานุบาล หัวหน้ากลุ่มรับเรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานเลขานุการผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทน

ไม่ต้องทุบทิ้ง ‘แอชตันอโศก’ กทม.ส่งหนังสือให้แจ้งแนวทางแก้ไข 30 วัน

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมายื่นหนังสือเร่งรัดให้ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาไต่สวน สอบสวน เอาผิดเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มีส่วนในการออกใบรับแจ้งหรือหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแอชตัน โศก ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ การออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างอาคารคอนโดฯ แอชตัน อโศก มีถึง 4 ฉบับตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 เมื่อศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมจะต้องมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำหรือการใช้อำนาจดังกล่าว จะปล่อยให้เลยตามเลยหรือนิ่งเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวมิได้ เพราะจะเกิดผลเสียต่อการบริหารราชการของกรุงเทพมหานครในอนาคต

ดังนั้นสมาคมฯ จึงต้องมาร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 มาตรา 49(3) โดยมีข้อร้องเรียน 5 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้ท่านใช้อำนาจตามมาตรา 49(3) ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2428 แต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลายซึ่งควรที่จะประกอบด้วยบุคคลากรภายในและภายนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติราชการใดๆ ขึ้นมาชุดหนึ่ง ตามที่ท่านเห็นสมควร เพื่อพิจารณาไต่สวน สอบสวน และลงโทษ พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครทั้งหมดที่ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้าง ทั้ง 4 ฉบับ ให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเมันท์ ทู จำกัด ผู้ร้องสอด เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร โครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 เขตวัฒนา โดยต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติราชการดังกล่าวที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่กำหนด

2.ขอให้ออกคำสั่งอย่างใดๆ เพื่อบังดับหรือปฏิบัติให้เป็นไปไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยเคร่งครัด

3. กรณีที่เกิดขึ้นขอให้ท่านสั่งการให้หน่วยงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกหนังสือแจ้งให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด เร่งดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติที่ชัดเจน ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยเร็ว และหลังจากนั้นขอให้ออกคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดของอาคารพิพาท หรือบริเวณอาคารพิพาทดังกล่าว และจัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามนั้นไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ บริเวณอาคารพิพาทดังกล่าว ตามมาตรา 40(2) ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยเร็ว

4.หากบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ไม่สามารถแสวงหาที่ดินของเอกชนเพื่อนำมาใช้เป็นทางเข้า-ออกอาคารพิพาทได้ตามระยะเวลาที่ท่านกำหนดแล้วไซร้ ขอให้ท่านสั่งการให้มีการบังคับใช้มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยทันที กล่าวคือ สั่งให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อันดา ดีเวลลอปเมันท์ ทู จำกัด หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารพิพาท ผู้ควบคุมงาน หรือเนินการ ทำการรื้อถอนอาคารพิพาทในส่วนที่ผิดกฎหมายออกไปเสียทั้งหมด ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการขอให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการรื้อถอนเสียเอง โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมดให้เรียกเก็บไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมันท์ ทู จำกัด หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารพิพาท ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการ ตามครรลองของกฎหมายต่อไป

และ 5. ขอคัดค้านข้อเสนอของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่เสนอให้หน่วยงาน ภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทดังกล่าว ผ่านสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี เพราะจะถือได้ว่าเป็นการยืมมือภาครัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนโดยตรง

ทั้งนี้ ตนจะมีหนังสือทวงถามมายังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการดำเนินการตามข้อร้องเรียนอีกครั้ง หลังจากนี้ก็จะเดินทางไปยื่นคำร้องเรียนที่ รฟม. กรมที่ดิน และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการ ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือ คชก. ต่อไป.