นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ส.ค. 66 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจความพร้อมการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี และคณะ จะร่วมนั่งรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารฟรีระหว่างอาคาร SAT-1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ทสภ. ด้วย ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการนำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน

นายกีรติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อาคาร SAT-1 พร้อมให้บริการผู้โดยสารแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดสอบระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสายการบิน และผู้ประกอบการภาคพื้น โดยจะมีการทดสอบต่อไปจนกระทั่งเปิดให้บริการ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 อย่างไม่เป็นทางการ (Soft opening) ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 66 โดยจะเป็นการทดลองให้บริการบางเที่ยวบินก่อน โดยเฉพาะเที่ยวบินที่จอดที่ ทสภ. นานเกิน 5 ชั่วโมง เพื่อทดสอบความพร้อม ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบ (Full opening) ช่วงต้นปี 67 ซึ่งอาคารหลังนี้จะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ ทสภ. มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

นายกีรติ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคาร SAT-1 ซึ่งจะมีทั้งร้านอาหาร ห้องรับรองของ และร้านค้าต่างๆ นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม และตกแต่งให้สมบูรณ์ โดยจะแล้วเสร็จทัน และพร้อมให้บริการในวันเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ทั้งนี้อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) 28 หลุมจอดอากาศยาน 

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ทอท. ได้ออกแบบอาคารที่ผสมผสานความทันสมัย และมีเอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยมาติดตั้ง และสอดแทรกในบริเวณต่างๆ ของอาคาร ซึ่งมีความสวยงาม ประณีต สะท้อนมรดกวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยในแต่ละภูมิภาค พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน การออกแบบอาคารหลังนี้ คำนึงถึงการใช้งานของทุกเพศทุกวันอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เช่น ห้องนั่งสมาธิ ห้องละหมาดที่แยกระหว่างหญิง-ชาย ห้องแม่และเด็ก (Babycare Room) รวมทั้งมีห้องและพื้นที่สำหรับเด็กเล่น เก้าอี้พักคอยที่ติดตั้งที่ชาร์จ พร้อมอุปกรณ์เสริมเต้ารับไฟฟ้าช่องเสียบ USB แบบ Universal เป็นต้น 

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแผนเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทสภ. ให้ได้มากขึ้นอีก โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่อีก 60,000 ตร.ม. เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยลดความหนาแน่นบริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้าง เพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67 และเปิดประกวดราคา (ประมูล) เพื่อก่อสร้างโครงการฯ ได้ช่วงต้นปี 67 โดยส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก จะสามารถรับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี.