สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่า กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ระบุว่า เด็กประมาณ 460 ล้านคน ต้องเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดในเอเชียใต้ หรือคิดเป็น 76% ของเด็กในภูมิภาค เมื่อเทียบกับจำนวน 1 ใน 3 ของเด็กทั่วโลก

“โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และข้อมูลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กหลายล้านคนทั่วเอเชียใต้ ถูกคุกคามมากขึ้น โดยคลื่นความร้อนและอุณหภูมิสูง” นายซานเจย์ วิเจซิเกรา ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าว

นอกจากนี้ ยูเอ็นยังกล่าวเตือนเพิ่มเติมว่า เด็กในอัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ, อินเดีย, มัลดีฟส์ และปากีสถาน “มีความเสี่ยงสูงมาก” ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พร้อมกับระบุว่า จำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 35 องศาเซลเซียสใน 1 ปี มี 83 วันขึ้นไป

ขณะที่ วิเจซิเกรา กล่าวเสริมว่า เด็กไม่สามารถปรับตัวได้เร็วเท่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และไม่สามารถขจัดความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกายได้ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการในตอนนี้ เด็กเหล่านี้จะยังคงเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น และรุนแรงยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 18 โลกร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้คลื่นความร้อนร้อนขึ้น อยู่นานขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น รวมทั้งเพิ่มความรุนแรงของสภาพอากาศอื่น ๆ เช่น พายุ และอุทกภัย ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มลพิษคาร์บอนจะต้องลดลงอย่างมากในทศวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมในอนาคต.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES