เนื่องจากติดล็อครัฐธรรมนูญมาตรา 272 การหาเสียงสว.โหวต หนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นนั่งบัลลังก์นายกฯ ไม่ได้ เป็นกระแสกดดัน เกิดคำว่านิติสงครามทฤษฎีสมคบคิดโยงมาถึงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระโดยเฉพาะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ใครๆ เรียกกันว่าศาลการเมือง และส่อว่าจะกลายเป็นตำบลกระสุนตกเนื่องจากมีคดีร้อนที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล และ พิธา จ่อพิจารณาอยู่

โดยเฉพาะในวันที่ 16 ส.ค.นี้ก็มีอีกหนึ่งคดีที่ต้องจับตาว่าศาลจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา กรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรณีรัฐสภา มีมติตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563  ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  

โดย “นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” ได้เปิดใจกับ “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” เป็นครั้งแรกในรอบการทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ 9 ปีที่ผ่านมา ถึงเรื่องทฤษฏีสมคบคิด หรือการถูกมองว่ามีใบสั่ง โดยขอยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ขอมองเรื่องเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เพราะถ้ามอง ก็แปลว่าไปคำนึงถึงกระแสสังคม ศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่รองรับไว้อย่างชัดเจน

“ก็ไม่เข้าใจว่าจะ เป็นการสมคบคิดอย่างได้อย่างไร เพราะจังหวะของศาลเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนจังหวะทางการเมืองนั้นไม่รู้ และเราก็ไม่สามารถคาดเดาได้ เขาจะใช้จังหวะไหนเราคาดเดาไม่ได้ แต่เราทำไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย”

ยืนยันว่าเรื่องใบสั่งนั้นไม่มี โดยสามารถตรวจสอบที่มาของศาลได้ เพราะมาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คนโดยที่ประชุมใหญ่คัดเลือกมา ซึ่งแต่ละคนก็ทำงาน มานานกว่า 30-40 ปีทั้งนั้นมีศักดิ์ศรีในตัวเอง นอกจากนี้ยังมีศาสตราจารย์มหาลัยทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ซึ่งคุณสมบัติสูงจะต้องเป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปีมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนสายบริหารก็ต้องเป็นระดับอธิบดีไม่น้อยกว่า 5 ปี เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงคุณสมบัติ ก็มีแต่คนบอกว่าขั้นเทพ แล้วกระบวนการสรรหาก็เชื่อถือได้ ถามว่าประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุดมีคนสั่งได้หรือไม่ ฉะนั้นเชื่อว่าแต่ละ คนคงไม่อยู่ในอาณัติของใครที่จะมาสั่งได้ ตัวบุคคลก็มาจากศาลฎีกา ศาลปกครอง ผ่านการคัดมาอย่างดีแล้ว เพราะฉะนั้นใครจะคิดอย่างนั้นก็คงห้ามไม่ได้

นายวรวิทย์ ย้ำอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็เหมือนศาลทั่วไป เห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมอย่างไรก็ไม่สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาเองได้ ต้องมีการฟ้องร้องกันก่อนคดีถึงจะเข้ามาได้ ดังนั้นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นมาเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 นั้น เมื่อเข้ามาแล้วสำนักงานฝ่ายธุรการเป็นคนรับเรื่อง และมีเวลา 2 วันในการตรวจสอบเอกสาร จากนั้นจึงเสนอต่อตุลาการ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 คณะ คือคณะเล็ก เพื่อพิจารณาภายใน 5 วัน ว่าจะรับคำร้องหรือไม่รับคำร้อง ถ้ารับคำร้อง ก็ถือว่าศาลรับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเลย ถ้าไม่รับก็ต้องส่งเข้าที่ประชุมตุลาการคณะใหญ่เพื่อกลั่นกรอง โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน รวมแล้วตุลาการจะมีเวลา 10 วัน ในการพิจารรารับหรือไม่รับ แต่ถ้าติดวันหยุดก็อาจจะนานกว่า 10 วัน หรืออันไหนทำไม่ได้ก็ขอขยายเวลา

สำหรับการประชุมพิจารณาในวันที่ 16 ส.ค.นั้น เป็นเพียงการพิจาณาว่าจะรับ หรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณาเท่านั้น ซึ่งการที่กำหนดให้ประชุมในวันที่ 16 ส.ค.แทนที่จะเป็นวันที่ 9 ส.ค. ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมกันทุกวันพุธ ก็เพราะในวันที่ 9 ส.ค. มีตุลาการ 2 ท่านที่ต้องไปประชุมต่างประเทศ ซึ่งเขาเชิญมานานแล้ว 2-3 เดือน เรื่องนี้จึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 16 ส.ค. เพราะเป็นเรื่องสำคัญตุลาการต้องอยู่ครบองค์ประชุม เรื่องนี้ไม่มีนอกมีในอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้มีการดึงเวลาออกไปแต่อย่างใด ก็ขออย่าโยงกันเมืองอะไรเลย  

@ เนื่องจากมีเรื่องของนายพิธา หลายเรื่อง ทั้งกรณีคดี 112 เรื่องคุณสมบัติและเรื่องเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ซ้ำไม่ได้ จะพิจารณาพร้อมกันเลยได้หรือไม่

เป็นคนละเรื่อง เรื่องแรกเป็นการร้องว่าบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ตามบทบัญญัติมาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นทรงเป็นพระประมุขไม่ได้ ถ้าศาลฟังว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองศาลก็จะสั่งให้หยุดการกระทำ ไม่มีเรื่องของการยุบพรรค เพราะในคำร้องก็ไม่มีเรื่องนี้อยู่แล้ว  แต่ถึงมีคำร้องเราก็ไม่สามารถสั่งได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กกต.จะต้องพิจารณาว่า ผิดหรือไม่ผิด ถ้าเห็นว่าผิดก็ค่อยส่งมาถ้าเห็นว่าไม่ผิดก็ยกไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เขาได้ขอขยายเวลาส่งเอกสารมาให้ศาลออกไป 30 วัน โดยให้เหตุผลว่าเอกสารเยอะ ต้องใช้เวลาในการรวบรวม ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเป็นการปฏิบัติแบบเดียวกับทุกคดีที่ขอขยายเวลา ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ขยายเวลาได้กี่ครั้ง แต่หากหลายครั้งเกินไป ศาลก็จะดูว่ามีเจตนาดึงเรื่องหรือไม่

@ จะมีการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างไร

คดีของศาลจะเร่งตัดสินตามกระแสสังคมไม่ได้ เราทำตามขั้นตอน จึงดูที่เหตุผลและความจำเป็น ของผู้ถูกร้อง นอกจากจะมีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ เช่นศาลจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 60 วัน

@ มีการมองว่าเร่งหยิบบางเรื่องมาพิจารณาก่อน  

ไม่ได้มีการเร่งรัดในการทำงาน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะหยิบเรื่องนั้นเรื่องนี้มาทำให้เร็วหรือทำเรื่องอะไรให้ช้า ทำทุกอย่างเป็นขั้นตอน มีบันทึกของเจ้าหน้าที่ มีรายงานการประชุมตลอด

@ ขณะนี้มีวาทกรรม นิติสงครามศาลรัฐธรรมนูญซึ่งส่วนใหญ่พิจารณาคดีทางการเมือง จะตั้งรับให้ความเข้าใจกับสังคมอย่างไร

ศาลทุกศาล, ครม., รัฐสภา หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย ตามหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ซึ่งมีบัญญัติชัดเจนอยู่ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เราเองก็ยึดหลักนี้ เราจึงไม่กลัวกระแสกดดัน ดังนั้นอยากให้ประชาชนดูที่คำตัดสินของศาลซึ่งจะอธิบายได้ดี เพราะคำวินิจฉัยจะต้องมีการอธิบายต้องมีเหตุผล

@ สังคมปัจจุบันแยกออกเป็นกลุ่ม บางกลุ่มเลือกที่จะเชื่อและบางกลุ่มไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม

ศาลยึดความถูกต้อง ทำงานโดยยึดตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถที่จะถูกใจทุกคน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ถูกใจก็จะโจมตี จะมองและวิเคราะห์ไปเรื่อยเปื่อย ห้ามไม่ได้

@ ศาลจะเป็นองค์กรที่สามารถผ่านทางตันได้หรือไม่

คนมักจะเรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง แต่จริงๆ ไม่ใช่เลยงาน หลักของเราก็คือการพิจารณาว่า ร่างกฎหมายหรือกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ  แต่ว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลในการวินิจฉัยชี้ขาด เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการวินิจฉัยชี้ขาดพวกนี้ก็ไปกระทบบุคคล ก็มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ คงห้ามไม่ได้  

@ การทำหน้าที่ของศาลจะเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้หรือไม่

ที่จริงก็อยู่ที่สื่อมวลชนด้วย เพราะเป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง จะต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง นั่นก็จะทำให้ประชาชนเข้าใจ แต่ถ้าพูดไม่หมด พูดให้มีประเด็น คนก็ไม่เข้าใจ

@ ที่ผ่านมา สื่อมวลชนเข้าไม่ถึงศาล บางเรื่องที่ต้องการคำชี้ในประเด็นข้อกังขาต่างๆ ก็ไม่มีใครมาอธิบาย ทำให้คนเข้าใจไปอีกแบบ ศาลจะมีการตั้งรับและการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนอย่างไร

การให้ข้อมูลนั้นให้ได้ แต่จะไปตั้งรับโดยการตอบโต้ในประเด็นต่างๆ นั้นศาลทำไม่ได้ โดยจริยธรรม โดยการทำงานของศาลไม่ตอบโต้อยู่แล้ว เพราะถ้าตอบโต้เมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นคู่กรณี กลายเป็นคู่ขัดแย้ง วิธีการให้ข้อมูลก็คือการ ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสังเกตว่าระยะหลัง จะมีการเขียนอธิบายมากขึ้น จากเดิมศาลมีมติอย่างไรก็เอาตามนั้น ตอนนี้ก็พยายามอธิบายมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคืออยากให้อ่านคำวินิจฉัยทั้งหมด จะได้เห็นคำอธิบาย เหตุผลต่างๆ อย่าอ่านแค่คำสรุป เพราะถ้าอ่านแค่นั้นก็จะเกิดชอบหรือไม่ชอบ จึงต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นคำอธิบาย.