นายสุพจน์ สิงห์โตศรี อยู่บ้านเลขที่ 95/1 หมู่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เจ้าของฟาร์มหมูหลุมดอนแร่  กล่าวว่า การเลี้ยงหมูหลุม ของตนเองนั้น เริ่มต้นมาจากความไม่รู้ว่าหมูหลุมคืออะไร รู้แต่เพียงว่า การเลี้ยงหมูวิธีนี้ ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวันชุกชุม ไม่มีน้ำเน่าเสีย  ซึ่งแตกต่างกับการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์ม โดยก่อนหน้านี้ เคยเป็นนักสัตวบาลประจำฟาร์ม ทำงานในฟาร์มหมูมากว่า 2 ปี ทุกๆเช้าจะต้องเข้าฟาร์มไปตรวจเช็คหมู หากพบหมูตัวไหนป่วยก็จะต้องทำการรักษา ฉีดยา ตลอดระยะเวลา2 ปีที่ทำงาน สิ่งที่ต้องพบเจอทุกวัน มีอยู่ 2-3 เรื่อง หลักๆเลยก็คือเรื่องสุขภาพของหมู ที่ต้องคอย ให้วัคซีน คอยฉีดยา ส่วนอีกอีกเรื่อง ก็จะเป็นเรื่องของกลิ่น แมลงวัน น้ำเน่าเสีย ที่ต้องคอยหาวิธีจัดการแก้ไขกันอยู่ตลอด

ต่อมาได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลว่า หมูหลุม คืออะไร มีวิธีเลี้ยงอย่างไร เลี้ยงยากหรือไม่ จนได้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์โชคชัย สารากิจ ที่ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนายั่งยืน จ.เชียงราย ถึงวิธีการเลี้ยง หมูหลุม พบว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวัน ไม่มีน้ำเน่าเสีย แม้จะเลี้ยงหมูเป็นร้อยๆตัว การเลี้ยงต้นทุนต่ำ กำไรดี เลี้ยงง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงพบว่า หมูหลุม คือทางเลือกใหม่ของเกษตรกร การเลี้ยงหมูหลุมคือความยั่งยืน มั่นคงของเกษตรกรโดยแท้ นอกจากนี้หมูหลุม ยังเป็นทางเลือกที่ดีของผู้บริโภคที่จะได้บริโภคเนื้อหมูสะอาดปลอดภัยจากสารเร่งเนื้อแดงร้อยเปอร์เซนต์ ที่สำคัญระบบการเลี้ยงหมูหลุมยังปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงหมูหลุม เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ เน้นการใช้วัสดุจากท้องถิ่นตามธรรมชาติ ที่หาง่าย ซึ่งการเลี้ยงหมูหลุม นอกเหนือจากขายเนื้อแล้ว ยังสามารถผลิตปุ๋ยคอกจากมูลหมูขายได้อีกด้วย

หมูหลุม มีขั้นตอนการเลี้ยงที่ง่ายกว่าการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์มมาก เพราะหมูหลุม เป็นการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ เน้นใช้วัสดุต่างๆตามธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่างๆ มาทำเป็นอาหารหมักเลี้ยงหมูหลุม ทำให้หมูที่เลี้ยงได้ไม่มีไขมัน เนื้อแดงเยอะ และไม่มีสารเคมีตกค้าง ไม่ต้องใช้ยาฉีด ประหยัดต้นทุนได้มาก ยึดแนวคิดเกษตรกรรมธรรมชาติที่เน้นการพึ่งพาตนเอง แต่เน้นการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น (Indigenous micro organism) ทดแทน ทำให้สุกรไม่เครียด มีสุขภาพดี ปลอดสารพิษและมีคุณภาพเนื้อดีเยี่ยม หากหมูมีอาการเจ็บป่วย จะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเลย แต่จะใช้สมุนไพรที่หาได้ง่ายๆในท้องถิ่นมารักษา เช่น ถ้าหมูมีอาการท้องเสีย ซึ่งอาจเกิดจาการให้อาหารมากเกินไป ก็ควรลดอาหารลง แต่หากตัวไหนมีอาการหนักก็ให้กล้วยดิบกิน หรือหยวกกล้วยที่หมักก็ช่วย ลดอาการท้องเสียได้ แต่ถ้าเป็นหมูตัวใหญ่จะให้กินหญ้าแห้วหมูหรือใบฝรั่ง ภายใน 1 วัน อาการท้องเสียจะหายไป นอกจากนี้ การเลี้ยงหมูหลุม ยังทำให้ได้ปุ๋ยหมักชั้นดีจากขี้หมูที่อยู่ในหลุม ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้จากขี้หมูในหลุมสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยใส่พืช

การเลี้ยงหมูหลุม ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเลี้ยงหมู ถ้าใครคิดจะเลี้ยงหมู แล้วไปตั้งฟาร์มที่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คุณจะได้รับ คือ ชุมชนจะปฏิเสธคุณ เพราะว่าคุณนำสิ่งของที่มีความเหม็น ทำให้น้ำเน่าเสีย มีแมลงวัน พาหนะนำโรค เข้าไปในชุมชน แต่ถ้าเกษตรกร เลี้ยงหมูหลุม ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นก็จะไม่มี น้ำเสียก็ไม่มี แมลงวันก็ไม่มี หมูหลุม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถทำให้ผู้เลี้ยงและผู้บริโภคอยู่ได้อย่างยั่งยืน บริโภคกินเนื้อหมู อย่างปลอดภัย และในระบบการเลี้ยงหมูแบบนี้ยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม