สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ว่ากลุ่มผู้จัดแสดงสินค้าที่ “พาวิลเลียนไทย” ส่วนย่อยของพาวิลเลียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พากันนำเสนอเครื่องปรุงต้มยำกุ้ง เพื่อช่วยให้คนรักอาหารไทยได้ลองลิ้มชิมรสชาติต้นตำรับได้ที่บ้าน โดยจ้าวเผย ว่าเครื่องปรุงที่นำมาจำหน่ายผลิตในไทย และเขาเตรียมสินค้าสำหรับงานแสดงสินค้าในปีนี้ มากถึง 18 ตัน


จ้าว ผู้บริหารบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกคุนหมิง สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับอาหารไทย เครื่องปรุง เครื่องดื่ม และอื่น ๆ เผยว่าแต่ละปีบริษัทของเขาจัดจำหน่ายเครื่องปรุงอาหารไทยเมนูต่าง ๆ สู่มณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และเสฉวน คิดเป็นปริมาณมากกว่า 20 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องปรุงต้มยำกุ้ง

แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 19 ส.ค. 2566


จ้าวเริ่มต้นทำธุรกิจนำเข้าสินค้าไทยตั้งแต่ปี 2552 โดยตอนนั้นสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในระดับทั่วไป ยอดจำหน่ายไม่ได้หวือหวา รายการสินค้าไม่ได้มากมาย มีเพียงขนมขบเคี้ยว สบู่หอม หรือเครื่องเทศ สวนทางกับตอนนี้ที่อาหารไทยและสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับอย่างมากในจีน ทำให้มีสินค้าให้เลือกหลากหลายและยอดจำหน่ายเฟื่องฟู


อนึ่ง งานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและการประสานงานเพื่อการพัฒนาร่วมกัน” ระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าทางออนไลน์และออฟไลน์จากกว่า 85 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า 30,000 ราย

แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 16 ส.ค. 2566


สำหรับพาวิลเลียนไทยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า 58 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการไทย 38 ราย และผู้นำเข้า-จัดจำหน่ายสินค้าไทย 20 ราย ซึ่งนำเสนอสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ


รายงานระบุว่าเครื่องปรุงต้มยำกุ้งทุกรูปแบบกลายเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายดีที่สุดในพาวิลเลียนไทย ดังเช่นชายแซ่หยางจากเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ซื้อเครื่องปรุงต้มยำกุ้งกระปุกใหญ่กลับบ้านถึง 3 กระปุก ขณะเดียวกัน สินค้าอย่างเครื่องปรุงผัดไทและน้ำจิ้มสุกี้แบบไทยได้รับความสนใจจากลูกค้าเช่นกัน

แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 19 ส.ค. 2566


สถิติจากเหม่ยถวนและเตี่ยนผิงระบุว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา จำนวนร้านอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแพลตฟอร์มในจีน เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับปี 2565

แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 16 ส.ค. 2566


เมืองคุนหมิงมีร้านอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 98 แห่งในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ขณะผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม เตี่ยนผิงในคุนหมิงค้นหาคำว่า “อาหารไทย” เพิ่มขึ้นร้อยละ 102 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยเฉพาะความต้องการของคนอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 53 ของการค้นหาทั้งหมด

แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย ที่พาวิลเลียนไทยในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 16 ส.ค. 2566


นอกจากนั้น ความนิยมชมชอบต้มยำกุ้งยังก่อให้เกิดกระแสอาหารคาวหวานหลายเมนูที่มีรสชาติต้มยำกุ้งในจีน เช่น หม้อไฟต้มยำกุ้ง ซุปหม่าล่าต้มยำกุ้ง ก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้ง รวมถึงความสนใจเมนูอื่น ๆ อย่างข้าวเหนียวมะม่วง ปลานึ่งมะนาว และต้มเล้งแซ่บอีกด้วย.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA