เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ได้พูดคุยหารือกับหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 12 พรรค

จากนั้น 13.30 น. พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคทั้ง 11 พรรค อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า, นายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวรเชษฐ เชิดชู เลขาธิการพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล หัวหน้าพรรคท้องที่ไทย, นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

โดย นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาระบุว่า การแถลงการจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค เสียงจำนวน 314 เสียง รวมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล รวมถึงมีมติเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) มี 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคละ 1 เสียง รวมเป็น 314 เสียง  

ทั้งนี้ ในการโหวตนายกฯ จะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะต้องหาเสียงจาก สว. อีก 61 เสียง จึงจะเพียงพอต่อการโหวตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย.