ภายหลัง เพจเฟซบุ๊ก BrandAge Online โพสต์ข้อความพร้อมภาพ การปิดฉากปั๊มเอสโซ่ในไทย เปลี่ยนเป็นปั๊มบางจาก เริ่ม 1 ก.ย. โดยระบุข้อความว่า 3 วันสุดท้ายก่อนบ๊ายบายพี่เสือ ทยอยเปลี่ยนป้ายปั๊ม “เอสโซ่” เป็น “บางจาก” เริ่ม 1 กันยายนนี้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ดีเดย์ 1 ก.ย.! ปิดฉาก ‘ปั๊มเอสโซ่’ ในไทย ทยอยเปลี่ยนป้ายเป็น ‘บางจาก’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เดลินิวส์ ออนไลน์ จะมาส่องประวัติ เพื่อรำลึกถึง เอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นการส่งท้ายปิดตำนานปั๊มน้ำมันตราเสือ อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายในอีก 2 วัน โดย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Esso (Thailand) Public Company Limited ชื่อย่อ:ESSO) เป็นผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบครบวงจร (integrated) อีกทั้งบริษัทยังทำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และเคมีภัณฑ์อื่น โดยช่องทางขายผ่านทางลูกค้ารายย่อยและทางเครือข่ายที่กว้างขวางของสถานีบริการน้ำมันค้าปลีก ภายใต้ชื่อการค้าเอสโซ่ รวมทั้งขายโดยตรงให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม ค้าส่ง การบินและการเดินเรือ

โดยเริ่มต้นเดิมที ตั้งแต่ พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก เปิดสาขาในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่และตรานกอินทรี พ.ศ. 2474 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก และบริษัท แว๊คคั่มออยล์ ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นตรา “การ์กอยส์” พ.ศ. 2476 ร่วมทุนกับบริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด ใช้เครื่องหมายการค้า “ม้าบิน” พ.ศ. 2490 รับชื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการ พ.ศ. 2505 เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2505 และเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าจาก “ตราม้าบิน” มาเป็น “ตราเอสโซ่” ในวงรีรูปไข่

พ.ศ. 2508 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด พ.ศ. 2514 ขยายโรงกลั่นครั้งแรก และประกอบกิจการโรงงานกลั่นน้ำมันแร่ขนาดใช้น้ำมันดิบวันละไม่เกิน 35,000 บาร์เรล ภายใต้สัญญาประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับบริษัท พ.ศ. 2515 ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเลขที่ 1016 ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี พ.ศ. 2519 ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรล ต่อวัน พ.ศ. 2522 จัดตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ โดยได้รับสัมปทาน การสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายหลัง บริษัทฯ เปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์

ในปี 2528 รัฐบาลได้อนุมัติให้บริษัทเพิ่มกำลังกลั่นน้ำมันดิบเป็นวันละ 63,000 บาร์เรล จากการปรับเพิ่มปริมาณการผลิต พ.ศ. 2534 ได้รับการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชาเป็น 185,000 บาร์เรลต่อวัน โดยร่วมมือกับบริษัทน้ำมันชั้นนำต่างๆ จัดตั้ง บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เพื่อวางท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นศรีราชาไปยังลำลูกกา ดอนเมือง และสระบุรี และบริษัทได้ทยอยเพิ่มกำลังกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทด้วยการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังกลั่นน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 174,000 บาร์เรล พ.ศ. 2539 วันที่ 12 มี.ค. เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราครุฑ แก่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเริ่มการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชา บริษัทเริ่มก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันศรีราชาของบริษัท การก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ของบริษัท ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2542 โดยมีกำลังการผลิตพาราไซลีนปีละ 350,000 ตัน บริษัทได้เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551

พ.ศ. 2544 ได้มาซึ่งกิจการของบริษัท โมบิลออยล์ไทยแลนด์ จำกัด และดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 จัดตั้งบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พ.ศ. 2546 จัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2551 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2554 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฉลองความสำเร็จ โครงการน้ำมันสะอาด ด้วยเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท พ.ศ. 2557 ดำเนินกิจการในประเทศไทยครบรอบ 120 ปี และปรับโฉมสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ พ.ศ. 2562 เปลี่ยนชื่อ ศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพ เป็น ศูนย์บริการธุรกิจระดับโลก และฉลองการดำเนินกิจการในประเทศไทย ครบ 125 ปี

บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น (Exxon Mobil Corporation) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยบริษัทเป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (complex refinery) ซึ่งมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 174,000 บาร์เรลต่อวัน และเป็นเจ้าของและผู้ประกอบการโรงงานอะโรเมติกส์ (aromatics plant) ซึ่งมีกำลังการผลิตพาราไซลีน 500,000 ตันต่อปี และหน่วยผลิตสารทำละลายซึ่งมีกำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี โดยโรงงานแต่ละแห่งนี้ ได้เชื่อมโยงเข้ากับหน่วยกลั่นน้ำมันและกระบวนการกลั่นน้ำมันของบริษัทแบบครบวงจร มีที่ตั้งใกล้กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2556) ลำดับที่ 1 ExxonMobil International Holdings Inc. จำนวนหุ้นสามัญ 2,264,500,000 สัดส่วนการถือหุ้น 65.43% กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้นสามัญ 126,875,000 สัดส่วนการถือหุ้น 3.67% กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้นสามัญ 126,875,000 สัดส่วนการถือหุ้น 3.67% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้นสามัญ 56,808,026 จำนวนหุ้นสามัญ 1.64% และ นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย จำนวนหุ้นสามัญ 31,175,900 สัดส่วนการถือหุ้น 0.90%

กระทั่งวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566 บางจาก คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของเอสโซ่จากเอ็กซอนโมบิล ในสัดส่วนร้อยละ 65.99 โดยมีมูลค่ากิจการ 55,000 ล้านบาท โดยหลังจากการเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ เอ็กซอนโมบิล จะยังเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและเคมีภัณฑ์ในประเทศไทยต่อไป อีกทั้งเอสโซ่ยังได้รับสิทธิในการใช้ตราสินค้าต่อไปอีก 2 ปี กระทั่งปรากฏข่าว กลุ่มบริษัทบางจากประกาศกำลังทยอยเปลี่ยนป้ายสถานีบริการจาก ‘เอสโซ่’ เป็น ‘บางจาก’ ราว 700 สถานี ทั่วไทยภายใน 2 ปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2566 นี้ จนมีข่าวแพร่ออกไป ทำเอาชาวเน็ตแสดงความเห็นรู้สึกใจหายเป็นอย่างมาก ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เว็บไซต์ https://www.esso.co.th/th-thวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี