จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันที่มีชาวบ้านผู้รักษ์และหวงแหนไม้พะยูง ส่งข้อมูลการลักลอบตัดและขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียน มาที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่ามีการแจ้งเหตุตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุแล้วจำนวน 12 แห่ง และมีบางอำเภอได้เรียกผู้ซื้อไม้มาสอบปากคำแล้ว ซึ่งให้การที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และถูกกันตัวเป็นพยาน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กล่าวว่า ถึงวันนี้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดรู้เห็นหมด ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนและที่ราชพัสดุ ว่าใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ทั้งในขั้นตอนการขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัด รวมทั้งการติดต่อหาคนมาทำสัญญาซื้อไม้ด้วยวิธีพิเศษ ทั้งนี้ในส่วนข้อมูลที่ตนได้มานั้นมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ขณะเดียวกันทราบว่า สังคมก็กำลังจับตามองการทำงานของทางราชการและองค์กรอิสระอยู่ เนื่องจากระยะเวลานับตั้งแต่ที่เกิดเหตุผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ถึงบทสรุปเสียที ทั้งที่มีหลักฐานแน่นหนา ไม่ซับซ้อนอะไร สามารถออกหมายเรียกหรือหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เลย แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าที่เป็นทางการ

นายนิยม กล่าวว่า การรวบรวมพยานหลักฐานสำนวนตัดไม้พะยูงที่ดำเนินการมา มองเห็นภาพได้ชัดเจนแล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเบื้องต้นมีคนของภาครัฐ ดำเนินการในส่วนของผู้ขออนุญาตตัด และผู้ให้อนุญาตตัด รวมทั้งเอกชนที่เป็นพ่อค้ามาทำสัญญาซื้อไม้พะยูง ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พบหลักฐานทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนความสมเหตุสมผล ราคากลางที่ประเมินซื้อขายไม้ ซึ่งแตกต่างกับราคามาตรฐานของกรมป่าไม้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญคือพ่อค้าซื้อไม้ ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่จริงๆ แล้วมีรายชื่ออยู่ในมืออย่างน้อย 3 ราย จากการตรวจสอบแต่ละรายอ้างว่าเป็นแค่นอมินี ที่มาเป็นตัวแทนทำสัญญา และเป็นพ่อค้าคนกลางเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงพ่อค้ารายใหญ่สายอีสานหรือนายทุนจีนที่อยู่เบื้องหลังได้

สำหรับหลักฐานที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียน รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก ได้ตกผลึกเป็นข้อมูลเดียวกัน พบพ่อค้าซื้อไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา จำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท , พ่อค้าที่มาซื้อไม้พะยูงโรงเรียนหนองโนวิทยาคม จำนวน 9 ต้น ราคา 104,000 บาท และพ่อค้าที่มาซื้อไม้พะยูงโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ จำนวน 3 ต้น ราคา 30,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 ราย คาดว่าทางองค์กรอิสระและฝ่ายกฎหมาย คงดำเนินการสอบปากคำไปบ้างแล้ว

ส่วนการขายไม้พะยูงที่โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแห่งที่ 12 ที่พบการตัดไม้ในที่ราชพัสดุใน จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 9 ต้น ราคา 85,000 บาท เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจฯ และคณะทำงานเชิงลึกฯ ก็จะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกับทางโรงเรียนในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับสถิติจับกุมคดีกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ในรอบปี 2566 มากกว่าปี 2565 โดยพบว่าปีนี้มีถึง 36 คดี ผู้ต้องหา 21 คน แต่คดีเกี่ยวกับไม้พะยูง ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาหรือข้าราชการที่มีเอี่ยวได้แม้แต่คนเดียว.