คาเรน ฟาร์คูฮาร์สัน วัย 49 ปี เคยเป็นผู้จัดการสำนักงานของบริษัทวิศวกรรม ‘ธิสเซิล มารีน’ ในเมืองปีเตอร์เฮดแห่งสกอตแลนด์ ซึ่งมี จิม คลาร์ก วัย 72 ปีเป็นผู้ก่อตั้ง โดยเธอทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2538 

คลาร์ก กล่าวหาว่า ฟาร์คูฮาร์สัน ให้อาการที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือ “วัยทอง” ของเธอ เป็นข้ออ้างในการทำตัว “ตามใจชอบ” ในสำนักงาน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานที่สร้างรายได้ให้เธอถึงปีละ 38,000 ปอนด์ (ราว 1.7 ล้านบาท) 

ฟาร์คูฮาร์สัน กล่าวว่า คลาร์ก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เขาไม่ปรับตัวให้ทันโลก ทั้งที่เธอพยายามอธิบายสถานการณ์ของเธอ แต่เขาไม่ยอมรับฟัง เธอยังตั้งข้อสังเกตว่าเขามักจะมีปัญหาเวลาที่พนักงานลาหยุดพักผ่อนหรือแม้กระทั่งลาป่วย โดยเขามักเรียกพนักงานที่ลาป่วยว่าเป็นพวก “เปราะบาง”

ในเดือน ส.ค. 2564 ฟาร์คูฮาร์สัน ต้องทนทรมานกับเลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด เนื่องจากเธอเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือ “วัยทอง” อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบในทางลบต่อร่างกายของเธออย่างรุนแรงจากการประเมินของแพทย์

ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2565 ฟาร์คูฮาร์สัน เริ่มมีอาการวิตกกังวล สมาธิสั้นและภาวะสมองล้าเพิ่มเข้าไปอีก และเดือน ธ.ค. ของปีเดียวกันนั้น เธอจำต้องทำงานจากที่บ้านเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากเกิดหิมะตกหนัก และตัวเธอเองที่รู้สึกไม่สบายเพราะประจำเดือนกลับมาอีกครั้ง และมีเลือดออกมากผิดปกติ

ในวันที่ 3 เธอกลับมาทำงานที่บริษัทโดยไปถึงเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. เธอพบ คลาร์ก ที่โถงทางเดินและเขาพูดจาถากถางเธอว่า ในที่สุดก็มาทำงานได้เสียที

เฟอร์คูฮาร์สัน พยายามชี้แจงเหตุผลที่เธอไม่สามารถเดินทางมายังสำนักงานได้ในช่วงต้นสัปดาห์นั้น ซึ่งเป็นเพราะหิมะตกและภาวะระดูผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเธอ แต่ คลาร์ก มองเธออย่างรังเกียจและเดินหนี แสดงกิริยาส่อนัยว่าเธอไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะไม่เข้ามายังสำนักงาน ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจมาก 

ฟาร์คูเฮอร์สัน ตัดสินใจไปพูดกับ คลาร์ก แบบตรง ๆ ซึ่งเขากล่าวหาว่า เธอมาทำงานและเลิกงานแบบตามใจชอบ รวมถึงทำงานในแบบที่เธอพอใจ นอกจากนี้ เขาจะถามถึงจำนวนวันที่เธอหยุดงานในปีนั้นซึ่งรวมทั้งวันหยุดตามเทศกาลด้วย จากนั้นเขาก็กล่าวตำหนิว่า อาการ “วัยทอง” ของเธอเป็นแค่ “เรื่องปวดเนื้อปวดตัวงี่เง่าของพวกผู้หญิง” และเธอใช้เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำทุกอย่างตามความสะดวกของเธอ 

ฟาร์เฮอร์คูสัน ไม่พอใจและสะเทือนใจอย่างมากต่อคำพูดของ คลาร์ก เธอเขียนจดหมายร้องเรียนไปยังบริษัทเรื่องการถูกปฏิบัติด้วยความเหยียดหยามและแสดงความรังเกียจต่อเธอ 

หลายวันต่อมา เธอพบว่าบัญชีใช้งานออนไลน์ในบริษัทของเธอถูกระงับ ซึ่งทำให้เธอไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ผู้จัดการสาวจึงตัดสินใจลาออกและยื่นฟ้องร้องบริษัทต่อศาล ซึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี คลาร์ก ยืนยันว่าเขาวิจารณ์อีกฝ่ายโดยสุจริตและกล่าวหาว่าเธอวางแผนลาออกครั้งนี้เพราะต้องการเรียกร้องเงิน

คณะลูกขุนตัดสินให้ เฟอร์คูฮาร์สัน เป็นฝ่ายชนะ และกล่าวว่า คลาร์ก เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีคุณสมบัติหลายประการที่น่าชื่นชม แต่เสียดายที่เขาไม่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และไม่มีความเคารพต่อบุคคลที่เขามองว่าไม่สามารถทำงานหนักได้เหมือนอย่างเขา

คณะลูกขุนมีความเห็นว่า คำพูดวิจารณ์ของ คลาร์ก ที่มีต่อ เฟอร์คูฮาร์สัน นั้น ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเธอ

เฟอร์คูฮาร์สัน ชนะคดีและได้รับเงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 37,000 ปอนด์ (ราว 1.66 ล้านบาท) 

ปัจจุบันเธอได้งานใหม่ในบริษัทใหม่ แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้เธอหาตำแหน่งงานได้ยากมาก

ที่มา : dailymail.co.uk

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES