จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยารักษาโรคความดันโลหิตสูง “เออบีซาแทน” (Irbesartan) ที่จำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากยาบางรุ่นการผลิต พบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเอแซดบีทีในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา เกินเกณฑ์สากลที่ยอมรับ โดยพบว่าในไทยมีอยู่ 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท

ล่าสุด วันที่ 21 ต.ค. พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในส่วนขององค์การเภสัชกรรม ก็ได้รับแจ้งจาก อย. ซึ่งมีการตรวจสอบพบว่า มียารักษาความดันที่ต้องเรียกคืน คือ IRBESARTAN GPO (300 MG) เลขทะเบียน 1A 31/56 (NG) รุ่นการผลิต A650197 วันที่ผลิต 4/2/2022 วันหมดอายุ 4/2/2024 รุ่นการผลิต A650681 วันที่ผลิต 2/11/2022 วันหมดอายุ 2/11/2024 และรุ่นการผลิต A660341 วันที่ผลิต 28/4/2023 วันหมดอายุ 28/4/2025 โดยยาเหล่านี้จะส่งกระจายไปยังสถานพยาบาลรัฐ 6 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 13 แห่ง โดย รุ่นการผลิต A650197 กระจายหมดแล้วประมาณ 4,500 กล่อง รุ่นการผลิต A660341 ผลิตประมาณ 4,657 กล่อง ยังอยู่ที่องค์ภารเภสัชฯ ประมาณ 3,400 กล่อง และรุ่นการผลิต A650681 ผลิต 4,620 กล่อง เหลืออยู่องค์การเภสัชฯ215 กล่อง

“ทางองค์การเภสัชฯ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้ยาและการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นลำดับแรก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ข้อมูลจาก อย. ซึ่งเฝ้าระวังเกี่ยวกับสารที่อาจจะเกิดอันตรายและแจ้งให้ทราบ ทางเราก็เริ่มกระบวนการแจ้งและเรียกคืนยาโดยทันที พร้อมเฝ้าระวังผลข้างเคียงเต็มรูปแบบ ส่วนที่ยังไม่ได้ส่งออก ก็มีการบล็อกเอาไว้ที่องค์การเภสัชฯ แล้ว” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนที่มีการกระจายไปยัง รพ. ต่างๆ นั้น ตอนนี้มีข้อมูลหรือไม่ว่า มีการจ่ายให้กับผู้ป่วยแล้วมากน้อยแค่ไหน พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า เราตรวจสอบหมดเลยว่า 3 ลอตนี้ไปอยู่ที่ใครบ้าง มีการจำหน่ายไปแล้วหรือยัง จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้เรารู้ว่า ยากระจายไปที่สถานพยาบาลไหนบ้าง ส่วนรายละเอียดว่าจ่ายให้กับผู้ป่วยรายใดบ้างนั้น ยังต้องรอการตรวจสอบ 

เมื่อถามว่า ทางองค์การเภสัชฯ จะมีการตรวจสอบซ้ำเพื่อหาต้นตอของปัญหาหรือไม่ ผอ.องค์การเภสัชฯ กล่าวว่า คิดว่า ปัญหาอยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นยา ซึ่งน่าจะมีการซื้อร่วมจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทใกล้ๆ กัน โดยเป็นสารกลุ่มไนโตซามีน ซึ่งเดิมจะไม่มีตัว AZBT อยู่ในรายการที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ทาง อย. น่าจะเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ยาอยู่ตลอด และทราบว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ก็เลยเฝ้าระวังและเพิ่มการตรวจสอบสาร AZBT นี้ เพิ่มเติมในประเทศไทย พอตรวจก็เจอว่าน่าจะมีในบางลอตการผลิต ทั้งนี้วัตถุดิบที่นำมาทำยานั้น เป็นกานำเข้ามาจากจีน และอินเดีย

เมื่อถามว่า จากนี้องค์การเภสัชฯ จะมีการทบทวนการนำเข้าวัตถุดิบตัวนี้หรือไม่ พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีการตรวจ และทบทวนเรื่องการนำเข้ายา หรือวัตถุดิบที่จะนำมาทำยาเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ตอนแรกยากลุ่มนี้จะมีสารที่บังคับตรวจอยู่ 3 ตัว ซึ่งเราก็ตรวจตามมาตรฐาน และเมื่อมีการกำหนดให้ตรวจเพิ่มขึ้น 1 รายการ คือ AZBT เราก็จะตรวจเพิ่มขึ้นมาอีก.