นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า รฟท. ไม่ก่อสร้างสะพานข้ามฟากชานชาลา และลิฟต์ในสถานีที่อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ทำให้งบประมาณกว่า 1.7 พันล้านบาทหายไปเข้ากระเป๋าใครว่า สถานีรถไฟที่อยู่ในโครงการดังกล่าว มี 58 สถานี เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็ก 41 สถานี สถานีรถไฟขนาดกลาง 12 สถานี สถานีรถไฟขนาดใหญ่ 5 สถานี และที่หยุดรถอีก 9 แห่ง ซึ่งตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างนั้น รูปแบบการก่อสร้างเดิมกำหนดให้มีสะพานลอยข้ามทางรถไฟชนิดติดตั้งลิฟต์โดยสาร 58 ชุด และสะพานลอยข้ามทางรถไฟชนิดไม่ติดตั้งลิฟต์โดยสาร 173 ชุด แต่เนื่องจากสถานีรถไฟส่วนใหญ่เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็ก มีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละไม่เกิน 20 คน และผู้โดยสารมาใช้บริการเกิน 100 คนต่อวันมีเพียงสถานีเดียว

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. จึงพิจารณากำหนดสร้างทางข้ามทางรถไฟโดยใช้หลักการคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของประชาชน และสามารถใช้งานได้จริงเป็นหลัก จึงพิจารณาให้จัดสร้างเป็นทางข้ามเสมอระดับ เพราะสามารถเดินข้ามในแนวราบได้อย่างสะดวก และสามารถประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้างของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับทางข้ามทางรถไฟในสถานีขนาดเล็กของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สัญญาอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างทางข้ามเสมอระดับในแบบเดียวกัน

นายเอกรัช กล่าวอีกว่า ในส่วนของการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟชนิดติดตั้งลิฟต์ จะก่อสร้างภายในสถานีขนาดใหญ่และสถานีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก รวม 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.สถานีนครปฐม 2.บ้านโป่ง 3.ราชบุรี 4.เพชรบุรี5.ชะอำ 6.หัวหิน 7.ประจวบคีรีขันธ์ 8.ชุมพร ส่วนสถานีรถไฟขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารน้อย และมีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารไม่มาก ได้มีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ ทั้งในเชิงความคุ้มค่าของงบประมาณ การบำรุงรักษาในระยะยาว โดยเฉพาะหากมีการสร้างเป็นลิฟต์ จะทำให้เป็นภาระต่อค่าบำรุงรักษา และค่ากระแสไฟฟ้าในระยะยาว

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบการใช้งบประมาณในการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟชนิดติดตั้งลิฟต์ มีราคาค่าก่อสร้างประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ มีราคาค่าก่อสร้างประมาณ 2.7 ล้านบาท รฟท. จึงพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว และได้เลือกก่อสร้างทางข้ามเสมอระดับ ที่ความเหมาะสมต่อการใช้งานของประชาชน และความคุ้มค่าของงบประมาณประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณการก่อสร้างสะพานลอยข้ามทางรถไฟชนิดติดตั้งลิฟต์โดยสาร และสะพานลอยข้ามทางรถไฟชนิดไม่ติดตั้งลิฟต์โดยสารที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้างนั้น รฟท. ขอยืนยันว่า ไม่มีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างในส่วนที่ไม่ได้มีการก่อสร้างมาแต่อย่างใด สามารถตรวจสอบได้จากเอกสารการเบิกเงินค่าจ้าง

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รฟท. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ การตรวจรับมอบงาน และระเบียบที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการนำเงินงบประมาณที่เหลืออยู่ไปใช้ในประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งก่อนหน้านี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็เคยมีหนังสือถึง รฟท. รายงานข้อมูลผลกระทบจากการสังเกตการณ์ และความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างสะพานลอย โดยระบุว่า การสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามที่มีลิฟต์ ไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้งยังมีภาระในการซ่อมบำรุงรักษาต่อเนื่องตลอดการให้บริการ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลการพิจารณารายได้จากการโดยสารของสถานีขนาดเล็ก ที่มีรายได้ไม่เกินหลักพันบาทต่อเดือน

ส่วนสถานีขนาดกลางที่มีผู้โดยสารมากกว่า 120 คนต่อวัน มีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน โดยต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบลิฟต์ แสงสว่าง ที่ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 4 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 3.3 หมื่นบาทต่อเดือน จึงเห็นได้ชัดว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา ดังนั้นการเลือกก่อสร้างทางข้ามทางรถไฟเสมอระดับที่ชานชาลาสถานี โดยมีบันได และทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถประหยัดงบประมาณได้ และใช้ประโยชน์ได้จริง ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานของทางข้ามทางรถไฟด้วย

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินกิจกรรมตามนโยบายรัฐบาลในการสร้างความโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ มีการวางระบบให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสู่สาธารณชน พร้อมทั้งมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ อันแสดงถึงเจตนารมย์ในการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน.