ถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและเป็นที่จับตา สำหรับ “Generative AI” ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมาพลิกโฉมของโลกเลยทีเดียว!!

หลังจาก “ยักษ์ไอทีของโลก” ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกา หรือ จีน ต่าง “ลงเงิน ลงแรง” ในการพัฒนาเทคโนโลยีออกมาแข่งขันกันในช่วงที่ผ่านมา

แต่ที่เป็นกระแสคงหนีไม่พ้น “ChatGPT”  ที่พัฒนาโดย OpenAI ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft และได้เปิดตัวช่วงปลายปี 2022 และ Google Bard ที่พัฒนาโดย Alphabet บริษัทแม่ของ Google และได้เปิดตัวครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2023 ที่ผ่านมา หลัง ChatGPT เพียงไม่กี่เดือน!?!

สอง AI จากสองยักษ์ไอทีระดับโลกนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และมีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง  วันนี้ “เดลินิวส์” หาคำตอบมาให้ในมุมมองของ “กูรู” ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีนี้ จากสองผู้บริหารบริษัทเทคชั้นนำของไทย

เริ่มกันที่ “สวภพ ท้วมแสง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม บริหารจัดการออร์เดอร์และสต๊อกครบวงจร  บอกว่า หากเทียบความแตกต่างระหว่าง AI  จากสองค่ายนี้นั้น ทาง ChatGPT เป็น AI ที่ได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลออนไลน์และออฟไลน์จำนวนมากด้วยการใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ โดยมีมนุษย์เป็นผู้ที่ป้อนข้อมูลและผลลัพธ์ต่างๆ ลงไป เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เกิดการเรียนรู้จากชุดข้อมูล

สวภพ ท้วมแสง

ซึ่ง Chat GPT มุ่งเน้นการสนทนาและการตอบคำถามผ่านข้อความ ใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร หรือในการสร้างเนื้อหาข้อความที่สร้างสรรค์ เช่น บทความบล็อก, คำแนะนำ และการสนทนาโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานและ AI เพื่อให้ Machine Learning ได้นำคำตอบมาประมวลผลและพัฒนาคุณภาพได้อย่างไม่สิ้นสุด

ในขณะที่ AI จาก  Google ในชื่อ Bard นั้นเป็นเทคโนโลยีแชตบอต AI ผ่านการใช้แบบจำลองภาษาที่ Google พัฒนาเอง ที่ชื่อว่า LaMDA (Language Model for Dialogue Applications) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ Band สามารถทำความเข้าใจบทสนทนาต่าง ๆ และสามารถพูดคุยโต้ตอบได้คล้ายกับมนุษย์!!

โดยเป็นระบบที่เข้าใจบทสนทนาอย่างต่อเนื่อง สามารถรวบรวมข้อมูลที่ยากและซับซ้อนให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาได้อย่างรวดเร็ว เน้นในการใช้วิเคราะห์ข้อมูล ในรูปแบบของการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เช่น ค้นหาเว็บไซต์, แปลภาษา และการประมวลผลข้อความ เป็นต้น

แต่หากมองถึงจุดเด่นและจุดด้อยของ AI จากสองค่ายนี้นั้น ทางผู้บริหารของ ซอร์ทเอาท์ บอกว่า ChatGPT  มีจุดเด่นที่สามารถให้การตอบสนองในหลายภาษาและสื่อสารในหลายมุมมอง และสามารถถูกปรับให้ใช้กับธุรกิจต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย  เช่น การบริการลูกค้าทางออนไลน์ การสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์สำหรับการตลาด การแปลภาษา และการเขียนโค้ด Software Developing ได้

และในแง่ข้อมูลความรู้ สามารถประมวลผลและให้ข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่า Google Band ทำให้ ChatGPT สามารถให้คำตอบเชิงวิชาการที่มีประโยชน์ได้มากกว่า  โดยสามารถใช้ในการช่วยสร้างเนื้อหาสร้างสรรค์ เช่น บทความบล็อก, คำแนะนำ และสร้างเรื่องราวเพื่อสื่อสารข้อมูลหรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้ และรองรับภาษาไทยแล้วในปัจจุบัน และมีทั้งแพ็กเกจที่เปิดให้ใช้งานฟรี และแพ็กเกจเสียเงินในราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน

อย่างไรก็ตามแต่ก็ยังพบจุดด้อย คือ ในเรื่องข้อจำกัดด้านการอัปเดตข้อมูลความรู้ ซึ่งในปัจจุบันสามารถแนะนำได้เฉพาะข้อมูลที่อัปเดตภายในปี 2022 เท่านั้น สิ่งนี้อาจทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือให้ข้อมูลที่ไม่อัปเดต เนื่องจากฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับเรียนรู้จำกัดไว้เพียงปี 2022 เท่านั้น

ข้ามมาที่ Google Bard บ้าง  ทาง “สวภพ ท้วมแสง” ให้มุมมองว่า  จุดเด่นของ  Google Bard นั้นถือเป็น AI ที่มีความสามารถในการเข้าใจประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น และยังสามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เสมือนคุยกับมนุษย์จริง ๆ ในปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถรองรับภาษาไทยได้แล้วด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการค้นหาข้อมูลที่มีคุณภาพ ให้คำตอบที่กระชับ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ข้อมูลมีความอัปเดตเป็นปัจจุบันได้มากกว่า เพราะใช้การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาประมวลผลและตอบคำถามให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้

หากนำ Google Bard มาใช้ในการแปลภาษาและการเข้าใจข้อความในหลายภาษา จะทำให้การแปลภาษาและการสื่อสารระหว่างภาษามีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาให้สามารถรองรับภาษาไทยแล้ว และก็เปิดให้ใช้งานได้ฟรี สำหรับผู้ที่มีบัญชี Google  นอกจากนี้ยังสามารถนำ AI ไปใช้กับ Google Meet, Google Docs และ Gmail ได้ในการทำงานเขียนหรือพรีเซนต์บน Power Point ช่วยให้การจัดตารางเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ตาม จุดด้อยของ  Google Bard ก็คือ การที่เพิ่งเริ่มเปิดตัว และยังไม่ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ฟีเจอร์ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถทำการประมวลผล และให้ข้อมูลในเชิงลึกได้ รวมถึงยังไม่สามารถเขียนโค้ดเพื่อใช้งานกับงานสายการเขียนโค้ด และ Software Developing ได้ นอกจากนี้ แม้ว่าการค้นหาข้อมูลและประมวลผลของ Google Bard จะเป็นข้อมูลที่อัปเดตกว่า แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ผู้ใช้จึงต้องมีการตรวจสอบแหล่งข้อมูลให้แม่นยำก่อนนำไปใช้งานด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อมองในมุมของโอกาสประสบความสำเร็จในตลาด ใครจะ “มาวิน” ในสมรภูมินี้นั้น ทาง  “สวภพ ท้วมแสง” มองว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้คนใช้ Chat GPT เป็นวงกว้างทั่วโลก ทำให้เป็น AI ระบบ Machine Learning มีโอกาสในการพัฒนานำเอาข้อมูลต่าง ๆ จากผู้ใช้งานมาใช้ประมวลผลและปรับปรุงคุณภาพของคำตอบ ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง  และในอนาคต Chat GPT อาจจะมีระบบคัดกรองและตรวจสอบคำตอบให้ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงการควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญให้ Chat GPT ประสบความสำเร็จในอนาคตได้

สำหรับของ Google Bard  ได้เปรียบในเรื่องข้อมูล เพราะผู้พัฒนาคือ Google ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เรียกว่า “มากมายมหาศาล” ทำให้ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อัปเดตและเรียลไทม์กว่า ChatGPT และเหมาะกับการนำไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Google ได้มากกว่า ซึ่งการพัฒนาในวงการ AI ก็เป็นสิ่งที่ต้องรอติดตามต่อไปว่า Google  จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ต่อยอดในการพัฒนา Bard ได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต

สุดท้ายแล้ว ทาง “สวภพ ท้วมแสง” บอกว่า จากที่ได้ใช้งาน AI ทั้งสองแล้ว ส่วนตัวชอบ ChatGPT มากกว่า เพราะการตอบของ AI มีความคล้ายมนุษย์มากกว่า แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะลองใช้ Bard หรือตัวอื่นๆ ที่จะมีในอนาคต เพราะปัจจุบัน AI พัฒนาเร็วมาก มีโอกาสตามทันกันได้ในเวลาไม่นาน

สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา

มากันที่ผู้บริหารอีกคนที่เรียกว่า ทำงานกับ AI มาโดยตลอด คือ “สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด  ผู้ให้บริการโซลูชั่น ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล   บอกว่า AI สองตัวนี้ มีการพัฒนาตลอดเวลา การวิเคราะห์จึงยึดข้อมูลและฟีเจอร์ของ AI ทั้งสองตัวช่วงเดือน ต.ค. 2023 ที่ผ่านมา

ซึ่ง Generative AI Chatbot ทั้งสองตัวนั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาไม่เหมือนกัน โดย ChatGPT ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็น AI Chatbot ที่เก่งในการเข้าใจภาษาธรรมชาติของมนุษย์ และถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ตอบสนองกับมนุษย์ได้ในทุกเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ โดยเป้าหมายของ OpenAI นั้น ต้องการให้ ChatGPT เป็น “go to” AI Chatbot ที่จะถูกใช้เป็นมาตรฐานของความต้องการใช้งาน AI Chatbot และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบหรือองค์กรใดๆแต่สามารถทำงานได้กับทุกๆ คน ทุกๆ องค์กร 

สิ่งนี้ทำให้ ChatGPT นั้นมีการต่อเชื่อม plug-in และส่วนเสริมไปสู่ Application และระบบต่างๆ มากมาย เป็นเหมือนเครื่องจักรขับเคลื่อนวงการ Software Solution ในการนำ AI Chatbot ที่สามารถใช้งานได้ทุกสถาณการณ์ ไม่ว่าใครอยากจากสร้าง Chatbot ใหม่   นำไปใช้พัฒนา Facebook Ad แบบสร้าง Lead ไปจนถึงนำ AI Chatbot มาเป็นเครื่องมือใน Application ขององค์กรได้ โดยรายได้ส่วนสำคัญของ ChatGPT คือ การที่หลายๆ ธุรกิจเรียกบริการของ ChatGPT ไปใช้งาน

แต่สำหรับ “Google Bard” นั้นเป็น  AI Chatbot ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ Google และลูกค้าของ Google การที่จะเริ่มใช้งานได้นั้น ต้องเริ่มต้นที่เป็น gmail user ก่อน การมีตัวตนของ Google Bard นั้นชัดเจนว่าทำเพื่อรักษาเสถียรภาพในการแข่งขันของการเป็นยักษ์ Search Engine ของโลก และรักษาฐานลูกค้า ในผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ต่างๆ ของ Google

“ในปัจจุบันเป็นการใช้บริการแบบฟรีทั้งหมด ซึ่ง Google Bard เหมือนเป็นการปิดจุดอ่อนของ ChatGPT ในการใช้งานลักษณะฟรีซึ่งจะทำให้ Google User ยังไม่เปลี่ยนที่จะไปหาข้อมูลจาก ChatGPT ในเมื่อ Google Bard นั้นทำได้ง่าย และดีกว่า”

สุดท้ายแล้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ  บิสกิต โซลูชั่น บอกว่า ทั้ง Google Bard และ ChatGPT ต่างก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ประเภทเดียวกันแต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างและพัฒนาเหมือนกัน หากวันนี้ถามว่าตัวไหนดีกว่ากันนั้น? คำตอบก็คือว่า ขึ้นกับว่าคนที่จะนำไปใช้เป็นใคร เพื่อจุดประสงค์ใด?

หากใช้ Google Office และต้องการนำ Chat AI ไปช่วยเพิ่ม Productivity แน่นอนว่า Google Bard ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า   แต่หากใช้งาน Microsoft Office การไปใช้ Microsoft Open AI ก็ดีกว่า

สำหรับในส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้น สำหรับตอนนี้ ChatGPT ถือเป็นทางเลือกที่ดีและมีอิสระมากที่สุด!!

ที่มา : บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด