วงการตะกร้อไทย เดือดระอุ! หลังจากที่ “โจ้ หลังเท้า” พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย ได้เป็นตัวแทนอดีตนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้จัดการทีมชาติไทย, ผู้ฝึกสอน ทีมตะกร้อทีมชาติไทย ต่อสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.66 ที่ผ่านมา

ในประเด็นเรื่องของ “การหักหัวคิว” หรือการหักเงินอัดฉีดของนักกีฬากีฬาตะกร้อทีมชาติไทย ที่ไม่เป็นธรรม!!!

“โจ้ สืบศักดิ์” ให้รายละเอียดต่อสื่อมวลชนว่า ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ที่ผ่านมา ทีมตะกร้อไทย คว้ามา 4 เหรียญทอง นักกีฬาทีมชุด จะได้เงินคนละ 2 ล้านบาท นักกีฬาที่ลงแข่งทั้ง “ทีมชุด+ทีมเดี่ยว” จะได้ 4 ล้านบาท

เงินทั้งหมดรวมคือ 34 ล้านบาท เป็นทีมชุด 24 ล้านบาท และทีมเดี่ยว 10 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่า มีการหักเงินนักกีฬา โดยนักกีฬาที่แข่งทั้งชุด-เดี่ยว ได้เงินเพียง 2.1 ล้านบาท เท่านั้น คือเกือบ 50% โดยอ้างว่าเป็นการหักเงินเพื่อไปให้นักกีฬาที่ไม่ติดทีมชาติ ซึ่งตรงนี้เงินก็ยังหายไป 3.3 ล้านบาท ส่วนทีมหญิง เงินหายไป 6.75 ล้านบาท นั้น

นอกจากนี้ยังมีการแฉถึงการ “หักหัวคิว” ที่เกิดขึ้นมาเป็นสิบๆ ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากสมาคมฯ แต่อย่างใด

ในประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์ ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวที่คร่ำหวอดในวงการกีฬาท่านหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า เรื่องของการแบ่งเงินรางวัลจากนักกีฬา ที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ในวงการกีฬาไทยนั้น มีมานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็น “กติกากลุ่ม” สำหรับนักกีฬาที่จะถูกนำไปแบ่งให้ หรือคนที่จะให้ ถ้าเข้าใจตรงกัน ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา

แต่หากเป็นกรณี มีคนที่ไปขอแบ่งเงินด้วยความไม่เหมาะสม, มีการข่มขู่ นอกเหนือจากการรับรู้ของคนกลุ่มใหญ่ แบบนี้ไม่ถูกต้องแน่นอน

ถ้าเป็นอย่างหลังแหล่งข่าวท่านนี้ถึงกับบอกว่า….เลวมากเลยทีเดียว

แหล่งข่าวคนดังกล่าว ยังขยายความเพิ่มเติม ซึ่งเราเห็นว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจ โดยท่านได้ระบุว่า เรื่องนี้อยากให้มองในหลายๆ ประเด็น

ต้องเข้าใจก่อนว่าในแต่ละชนิดกีฬานั้นไม่เหมือนกัน ตั้งแต่การคัดเลือกนักกีฬา การฝึกซ้อม และการตัดตัวนักกีฬา ก่อนไปเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาต่างๆ

เชื่อว่าทุกสมาคมกีฬาจะต้องมีการบริหารจัดการ “เงินรางวัล” ที่คล้ายๆ กัน นั่นก็คือสมาคมมอบหมายให้ “ผู้จัดการทีม” เป็นคนวางกติกาการแบ่งเงินรางวัล

เพราะก่อนจะเดินไป จนถึงการได้เหรียญรางวัล ไม่ได้มีเพียงนักกีฬาตัวจริงที่ไปได้เหรียญกลับมาเท่านั้น แต่ยังมีนักกีฬาตัวสำรอง ที่จะเป็นผู้ฝึกซ้อม และมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะหลังการตัดตัวนักกีฬา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขึ้นก่อนแข่งขันประมาณ 1 เดือน ก็ยังต้องมีการฝึกซ้อมร่วมกันอยู่

ประเด็นก็คือก่อนไปแข่งขันตั้งแต่แรก ได้มีการทำ “ข้อตกลงกลุ่ม” ในการจัดสรรปันส่วนเงินรางวัลที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายหรือไม่???

ทั้งในส่วนของนักกีฬา, คู่ซ้อม และผู้ฝึกสอน และถ้าหากทุกฝ่ายเห็นชอบยินยอมพร้อมใจในเงื่อนไขกลุ่มแล้ว ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะถือว่าเป็นความสมัครใจ

เมื่อทุกฝ่ายตกลงกันแล้วว่าหลังจากได้เหรียญมา จะแบ่งเงินกันยังไง แล้วถามว่ากรณีของตะกร้อ ทำไมเรื่องถึงได้แดงขึ้นมา มันเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องไปตรวจสอบกัน

“แน่นอนว่าเงินเมื่อมี “ที่มา” แล้ว (จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ) ก็ย่อมต้องมี “ที่ไป” เช่นกัน

เพราะเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเลย!!!

อย่างที่บอกถ้าทุกอย่างอยู่ในกติกากลุ่ม ที่ทุกคนยอมรับกันแล้ว ก็ถือว่าเป็นความชอบธรรม ไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก

ทุกอย่างมันต้องดูที่เจตนาของการหักเงินจากนักกีฬา ว่าจะเอาไปจ่ายที่ใคร และเป็นข้อตกลงแบบไหน

แต่ถ้าหากมีการนำเงินนักกีฬาไปให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น “กรณีพิเศษ” แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปที่บอกว่า “วงการกีฬาไทย” มีการแบ่งเงินรางวัลนักกีฬากันมานานแล้ว จึงขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ “มวยสากลสมัครเล่น”

ในอดีตไล่มาตั้งแต่สมัยที่ สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักชกคนแรกของไทยที่ได้เหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี 1996 ที่สหรัฐอเมริกา เรื่อยมาจนถึง วิจารณ์ พลฤทธิ์ มาได้เหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ ปี 2000 ที่ออสเตรเลีย

สมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ (ชื่อเดิม) จะมอบหมายให้ “ผู้จัดการทีม” เป็นคนดำเนินการในเรื่องนี้ เป็นคนวางกติกาแบ่งเงินรางวัลที่ชัดเจน ยุติธรรม โปร่งใส ซึ่งก็ไม่ได้มีเรื่องร้องเรียนตามหลังแต่อย่างใด

อย่าง มวยสากล สมรักษ์ และวิชัย (ขัดโพธิ์) ที่ได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์ ปี 1996 ก็ถูกแบ่งเงิน ด้วยกติกากลุ่ม หรือการจัดการของผู้จัดการทีม และในปี 2000 วิจารณ์ กับ พรชัย บุราณ ก็ทำในกติกาเดียวกัน คือเป็นผู้ให้ เป็นผู้แบ่ง และสมรักษ์ ก็รับในฐานะ ที่เป็นคนไม่ได้เหรียญเหมือนกัน

บรรทัดนี้ ขอเสริมข้อมูลเพิ่มอีกนิดว่า นอกจากมวยสากลสมัครเล่นแล้ว ถ้ายังจำกันได้ สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย โดยคุณพิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมฯ ก็เคยมีการแถลงข่าวในเรื่องนี้ ก่อนโอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 ที่บราซิล จะเริ่มขึ้นมาแล้ว

ซึ่งตรงนี้ สมาคมฯ พูดชัดเจนว่า จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เลย เป็นกติกา เป็นความสมัครใจของนักกีฬา เป็นน้ำใจของนักกีฬาที่ได้เหรียญ ที่ตกลงกันเอง ว่าจะมอบให้กับ “คู่ซ้อม” จำนวนเท่าใด (โอลิมปิกเกมส์ 2016 เทวินทร์ หาญปราบ ได้เหรียญเงิน, พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้เหรียญทองแดง)

เพราะก่อนไปแข่งขันธรรมชาติของกีฬาเทควันโด หากมีนักกีฬาที่มีฝีมือสูสีกัน ก็จะมีการประลองกันขึ้น เพื่อคัดเลือกคนที่ดีที่สุดไปแข่งขัน และเมื่อได้เหรียญกลับมาแล้ว คนที่ได้เหรียญ ก็มีน้ำใจแบ่งเงินให้ตามกติกาที่วางไว้

จะมากจะน้อยก็ถือเป็นสินน้ำใจ เพราะกีฬาต่อสู้ ฝึกซ้อมคนเดียวไม่ได้

แหล่งข่าวคนดังกล่าวเสริมว่า…..เชื่อว่าทุกสมาคมกีฬา ก็น่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นข่าว เพราะยังไม่มีดราม่าขึ้นมา

ในส่วนของ “ตะกร้อ” นั้น ไม่ใช่เฉพาะเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ที่มีเงินรางวัล แต่มีมานานแล้ว แล้วทำไมเมื่อก่อนไม่มีการร้องเรียนเรื่องการหักเงินนักกีฬา ทำไมนักกีฬาส่วนใหญ่ที่ถูกหักเงินอย่างไม่เป็นธรรม จึงไม่ออกมาเรียกร้อง ก็ต้องไปคิดกัน

“ซึ่งนักกีฬาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น ส่วนใหญ่หรืออาจจะเกือบทั้งหมด จะเห็นด้วยกับเรื่องการแบ่งปันในลักษณะนี้ เพราะบางชนิดกีฬา ไม่มีใครรู้ว่า ใครจะได้เหรียญทอง

แต่เคสของตะกร้อนั้น อาจจะพิเศษหน่อย ตรงที่ “โอกาสพลาด” อาจจะน้อย ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำพูดที่ว่า “ตะกร้อไทยใครมาทำก็ได้เหรียญทอง” ขึ้นมาแน่นอน

แหล่งข่าวท่านนี้ยืนยันว่า…..ไม่เห็นด้วยกับการหักเงินรางวัลนักกีฬา!!!

ไม่ว่าจะเป็นการหักให้โค้ช หรือให้ผู้จัดการทีม เพราะหลักเกณฑ์ของ “กองทุนกีฬาชาติ” วางไว้ชัดเจนว่าหลังได้เหรียญกลับมา สมาคมต้นสังกัดและโค้ช จะได้ส่วนแบ่งกันเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลก่อนหน้านี้ ที่เล่ามาในเบื้องต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักกีฬา “เพื่อนร่วมทีม” หรือ “คู่ซ้อม”

จึงเป็นที่มาของคำว่า “กติกากลุ่ม” ที่ทุกคนยอมรับ จะด้วยความเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ เพราะถูกมัดมือชก ก็สุดแล้วแต่

แต่เมื่อตกลงกันแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องยอมรับมันให้ได้!!!

ถือเป็นอีกมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการกีฬา โดยเฉพาะ “ตะกร้อ” ที่อยากจะฝากไว้ให้พิจารณากันดูครับ

หลังจากนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า “ดราม่าตะกร้อไทย” จะจบลงอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการแก้ปัญหากันอย่างไร และจะไปจบกันตรงไหน!!!