เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เครือมติชน เดลินิวส์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมจัดเวทีสรุปโพล เดลินิวส์xมติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร? โดยมีการเสวนาในหัวข้อ รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?  มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์  นักวิชาการ-คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ เข้าร่วม  

นายอรรถจักร์ กล่าวว่า โพลนี้มีความสำคัญแม้จำนวนคนที่ทำโพลจะลดลงครึ่งหนึ่งจากการทำโพลเดลินิวส์Xมติชนครั้งแรก  คือจาก 8 หมื่นคนเหลือ 4 หมื่นคน แต่เป็น 4 หมื่นคนที่มีความตั้งใจในการทำโพลเพื่อชี้ให้เห็นความปรารถนาที่แท้จริงของประชาชน ของคนที่ไม่เคยมีเสียง หรือเสียงไม่ดัง ที่ทุกคนต้องรับฟัง ลึกลงไปในความปรารถนานี้ ผลโพลทั้ง 2 ด้าน คือเศรษฐกิจปากท้อง และโครงสร้าง จึงสะท้อนให้ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาและจัดวางตัวเองในเงื่อนไขของปัญหา ซึ่งในเรื่องของปัญหาปากท้อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ตนคิดว่าราคาน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่สุด โพลจึงสะท้อนการรับรู้การวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมือง เป็นภาพที่ผู้คนรับรู้ถึงปัญหาและตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญ  

นายอรรถจักร์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าโพลนี้เป็นตัวแทนคนไทยที่ต้องการสะท้อนความเหลื่อมล้ำโครงสร้างทางอำนาจ ซึ่งประชาชนต้องการเครื่องมือจับปลา เขาไม่ต้องการให้คุณมาให้ปลา ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นในสังคมไทย ถ้าเกิดรัฐบาลนี้ พรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลหน้ามองเห็นปัญหาจึงต้องคิดในรายละเอียดให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา เช่น ปฏิรูปกองทัพต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่การยุบ กอ.รมน.  หรือแก้ปัญหาราคาน้ำมันต้องทำอย่างไร ถ้าคิดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจไปด้วยกัน รัฐบาลนั้นจะกลายเป็นรัฐบุรุษ  ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทที่เป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังนั้นโพลนี้จึงสะท้อนความปรารถนาของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมและอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  อย่างไรก็ตามการที่กระแสเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทไม่ขึ้น เพราะคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าคุณกู้มาเมื่อไร พวกฉันและลูกฉันก็ต้องจ่ายด้วย  

นายอรรถจักร์ กล่าวต่อไปว่า อยากฝากรัฐบาลว่าอย่าไปคิดแค่แก้ปัญหาปากท้องอย่างเดียว พี่น้องประชาชนเขาตระหนักว่ามันมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากมาย  การแก้ปัญหาค่าน้ำ ไฟฟ้า น้ำมัน โดยคิดว่าเป็นการแก้ความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลอาจจะได้แต้มในช่วงสั้นๆในตอนนี้  แต่ประชาชนยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่นั้น มันต้องไปไกลกว่านั้น เขาอยากให้รัฐบาลสร้างแนวทางไปสู่เรื่องอื่นๆ มากกว่า ถ้ารัฐบาลยังแก้แบบนี้ซึ่งอาจทำได้ไม่นานนัก ราคาน้ำมันจะแก้ได้กี่เดือน ผมคิดว่ายากมาก ค่าไฟก็คงจะยาก คะแนนก็ไม่ได้ คนจะรู้สึกว่าถ้ารัฐบาลทำแค่นี้ก็เท่ากับหลอกประชาชน ส่วนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่มีการกำหนดเงื่อนไขรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท เงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น ตัวนี้คนหัวเราะก๊ากเลย และประชาชนมองว่าถูกหลอกอีกแล้ว ผมคิดว่าโอกาสที่จะเปรี้ยงปร้างอย่างที่เขาหวังคงไม่ได้ เพราะสำหรับประชาชนคงไม่ได้อะไรเท่าไร ท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้คือร้านค้าใหญ่  ลองดูถ้าเขาออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้ คิดว่าเดือนแรกก็จะได้เห็นเลยว่ามันจะเปรี้ยงหรือไม่เปรี้ยง 

“โดยเงื่อนไขของรัฐบาลนี้คือเป็นโครงสร้างของรัฐบาลพิเศษ เขาขึ้นมาเพื่อลดกระแส เขาทำได้แค่นี้  เราแนะนำว่าเขาต้องปฏิรูปโครงสร้าง แต่หันซ้าย หันขวา หันไปข้างบน ก็เจอแต่กลุ่มทุนเจออะไร  ดังนั้นเขาก็คงจะมีแพะไว้สำหรับให้โบ้ยไปว่าเรื่องต่างๆ ล้มเหลวไปเพราะอะไร เช่น เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทล้มเหลวเพราะคนนั้นคนนี้  ท้ายที่สุดก็คาดเดาว่าต้องยุบสภา อยากฝากรัฐบาลชุดนี้ว่ามันก็อาจจะมีจังหวะ หรือโอกาส อาจจะไม่ใช่นายเศรษฐา แต่อาจจะเป็นใครก็ได้ คุณมีโอกาสเป็นรัฐบุรุษ ถ้าคุณกล้าตัดสินใจ สมมุตินายเศรษฐาอยากแตกหักก็ไปหา สส. มาเป็นพรรคพวกจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะแตกหักในบางเรื่อง ก็มีโอกาสที่จะเป็นรัฐบุรุษได้ แต่ดูแนวโน้มแล้วคงยากมากที่เขาจะทำ  คงยากที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง  และเราจะทนอยู่แบบนี้ เซ็งๆ และปกครองไปอีก 2 ปี แล้วยุบสภา โดยหวังว่าการให้ยาแก้ปวดมันจะทำให้เสียงโหวตเขามา สิ่งเดียวที่จะทำให้เขาคิดได้ก็คือเสียงของประชาชนที่ดังขึ้นแรงขึ้น จนเขารู้สึกว่ามันขวางไม่ได้  อย่างไรก็ตามรัฐบาลนี้และรัฐไทยเป็นตัวจรรโลงและค้ำยันความเหลื่อมล้ำ และปัญหาของสังคมทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำนี้” นายอรรถจักร์ กล่าว.