จากกรณีที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง หลังจากที่ “โจ้ หลังเท้า” พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักตะกร้อทีมชาติไทย ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้จัดการทีมชาติไทย, ผู้ฝึกสอน ทีมตะกร้อทีมชาติไทย ต่อสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ในประเด็นเรื่องมีการหักหัวคิว หรือเงินอัดฉีดของนักกีฬาทีมชาติไทยที่ไม่เป็นธรรม

ต่อมา น.ท.พูนศักดิ์ เพิ่มทรัพย์ อดีตนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทย ได้ยืนหนังสือให้นายธีรชัย พันธุมาศ รองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ซึ่ง น.ท.พูนศักดิ์ ยังกล่าวติวงการตะกร้อสมาคม ชมรมต่างๆ ในต่างจังหวัด ยังมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวด้วย อยากให้วงการเซปักตะกร้อ ได้นำเอาสโมสรตะกร้อราชบุรี เป็นโมเดลตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการแบบไร้ผลประโยชน์ส่วนตัว

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 พ.ย. น.ท.พูนศักดิ์ เพิ่มทรัพย์ อดีตนักกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติไทย กล่าวว่า ในวันที่ 29 พ.ย. ทางสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย จะมีประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ต้องขอขอบคุณสมาคมฯ ที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ อย่างไรก็ตามในส่วนของการที่ตนได้ร้อง ป.ป.ช. ก็จะยังเดินหน้าต่อเพื่อให้ตรวจสอบเงินอัดฉีดของนักตะกร้อทั้งชายและหญิง ที่หายไปประมาณ 10 ล้านบาท ขอให้ผู้ใหญ่เข้าใจที่พวกตนออกมาเรียกร้อง ก็เพื่อขอความเป็นธรรมให้น้องๆ นักตะกร้อ ไม่ได้ต้องการออกมาแฉให้ใครเสื่อมเสีย เพราะความจริงก็คือความจริง และจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไปจนกว่าทุกอย่างจะเคลียร์

ด้านนายอวยชัย ศรีสุวรรณ หรือพี่เอ ประธานสโมสรตะกร้อราชบุรี มังกรไฟ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับโมเดลในการบริหารจัดการของสโมสรแห่งนี้ ที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีการบริหารแบบโปร่งใสไร้ผลประโยชน์ เพื่อนักกีฬาอย่างแท้จริง ว่า ได้ก่อตั้งสโมสรแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2012 วันนี้เข้าปีที่ 12 สร้างชุดเยาวชนในสโมสร โดยออกเงินค่าเล่าเรียนให้ตั้งแต่เริ่มจนจบปริญญาตรี พร้อมกับมีที่พักให้ บรรดาผู้ปกครองที่ทราบก็จะส่งภาพมาให้ดูว่าลูกๆ ของเขามีความสามารถเพื่อที่จะให้เข้ามาอยู่ในสโมสรตะกร้อราชบุรี ปัจจุบันมีเด็กนักกีฬาที่ทางสโมสรดูแลอยู่ 25 คน

สำหรับสโมสรตะกร้อราชบุรี เริ่มต้นจากการทำลีกอาชีพ จนมาคิดว่าไม่รู้ว่าจะลงทุนไปเพื่ออะไร เข้าปีที่ 2 จึงได้คิดว่าจะเลิกหรือไปต่อ เนื่องจากค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละ 3 ล้านบาท สุดท้ายก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร กระทั่งเริ่มลงทุนทำสถานที่สำหรับที่อยู่อาศัยนักกีฬา สร้างคุณภาพชีวิตนักกีฬาให้ทุกคนได้เห็นได้รู้สึกว่าอยากมาอยู่ทีมราชบุรีและมีความสุข และต้องให้เป็นแชมป์ของลีกตะกร้อ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามา หรือตลอดจนเข้าหาสปอนเซอร์ในการสนับสนุนทีม ซึ่งก็ไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาเลยสักบาทเดียวในตอนแรก เพราะคนไม่รู้จักตะกร้อไทยแลนด์ลีก ตรงนี้คือจุดที่คิดว่าต้องเปลี่ยนมาเป็น business Model เพื่อเอามาดูแลสโมสร เริ่มจากทำป้ายไวนิล ขยายไปเรื่อยๆ เป็นงานสกรีนสร้างรายได้ทางอ้อม เพื่อเอามาดูแลสโมสรตามที่เราตั้งใจไว้ หลังจากนั้นก็ไปเสนอขอสปอนเซอร์เจ้าอื่นๆ โดยเป็นการของานแทนการขอเงิน

หลังจากทำไทยแลนด์ลีกมา ก็รู้ได้ว่าไม่ตอบโจทย์ไม่มีสโมสรไหนที่เป็นสโมสรอาชีพเลย ซึ่งความตั้งใจสูงสุดของนักกีฬาคือการติดทีมชาติ ทุกคนก็จะมุ่งไปสู่ทีมชาติ แต่ก็มีพื้นที่ให้นักกีฬาไม่เยอะ สิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ก็คือการสร้างแมตช์ที่มีเงินรางวัล มีตารางการแข่งขันที่ชัดเจน เพื่อเลี้ยงดูนักกีฬาเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นราชบุรีจึงได้พยายามทำทุกอย่างหารายได้หาโอกาส สร้างชื่อเสียง เพื่อให้เราสามารถสร้างแมตช์แข่งขันได้ นั้นคือราชบุรีโมเดลที่เราพยายามทำอยู่

ตอนนี้ชื่อเสียงของเราทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาฝึกกับทางสโมสร มีเงินมีรายได้จากส่วนนี้เข้ามา ก็จะเป็นนักกีฬาหญิง เราเป็นสโมสรที่ได้รางวัลการจัดการยอดเยี่ยม 4 ปีติดต่อกัน และเป็นสโมสรเดียวที่มีที่ตั้ง มีที่พัก มีสนามซ้อม มีโค้ชระดับนานาชาติ

จากโมเดลสโมสรตะกร้อราชบุรี ที่ทำมากว่า 10 ปี ก็มีผลงานออกมาให้เห็นได้คือนักกีฬาจากสโมสรติดชุดทีมชาติไทยไปแข่งขันระดับประเทศ และคว้ารางวัลเหรียญทองมา 3 คน ในเวทีซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และคิงส์คัพ ได้แก่ น.ส.พฤกษา มณีวงศ์ น.ส.อุษา ศรีคำลือ และน.ส.รัชนีกร แซ่เฮง ตนได้พยายามผลักดันและส่งเสริมให้กีฬาตะกร้อไม่ใช่เพียงทางผ่านไปสู่อาชีพข้าราชการ หรืออาชีพอื่นๆ แต่ต้องการให้นักกีฬาตะกร้อเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงปากท้องของตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างมั่นคงเช่นอาชีพนักกีฬาอื่นๆ