บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ออกมาแจ้งข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อน ถึงเรื่องการรายงานข้อมูลเครดิต (Credit Report) คือ รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

โดยรายงานข้อมูลเครดิตมี 2 ส่วน ได้แก่

1.ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็นชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2.ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระสินเชื่อ คือ ประวัติการชำระ ราคาสินค้าหรือบริการหรือสินเชื่อที่มี รวมทั้งสถานะบัญชี ที่แสดงสถานะของบัญชีสินเชื่อแต่ละบัญชี เช่น สินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น

การรายงานข้อเท็จจริงในการชำระหนี้นั้น สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโร เป็นข้อมูลที่มีการชำระหนี้ปกติและการชำระหนี้ล่าช้า ไม่ใช่ส่งเฉพาะกรณีที่มีการชำระหนี้ล่าช้า การส่งจะระบุ เช่น

  • ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน สถานะบัญชี 10 คือ ปกติ
  • ค้างชำระ 31-60 วัน สถานะบัญชี 10 คือ ปกติ
  • ค้างชำระ 61-90 วัน สถานะบัญชี 10 คือ ปกติ
  • ค้างชำระ 91-120 วัน สถานะบัญชี 20 คือ หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เป็นต้น

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ยังได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า การนำส่งข้อมูลจากสถาบันการเงินสมาชิกจะเป็นไปตามข้อเท็จจริง สถานะบัญชีจะเป็นปกติ จนกว่าจะค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป

กติกาคนที่กำหนด คือ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) เครดิตบูโรไม่ใช่คนตั้งกฎกติกา ประธานกรรมการ กคค. คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีคนของเครดิตบูโรที่เป็นกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง พนักงานลูกจ้าง ใด ๆ ทั้งสิ้น

“ข้อมูลตามความเป็นจริงในแต่ละบัญชี จะส่งเข้ามาในระบบทุกเดือน เดือนเก่าอยู่ข้างล่าง เดือนใหม่ล่าสุดอยู่ข้างบน เรียงเป็นขนมชั้น รายเดือน เรียงจนครบ 36 ชั้น พอข้อมูลเดือน 37 เข้ามา ก็ให้ลบเดือนที่ 1 ออกไป ใหม่เข้า เก่าออกไป จนกว่าจะมีการปิดบัญชี เมื่อปิดบัญชีก็จะไม่มีข้อมูลใหม่เข้ามาเติมข้างบน เดือนที่อยู่ข้างล่างก็จะถูกลบออกไปทีละเดือน ทุก ๆ เดือน จนกว่าจะไม่มีข้อมูลให้ลบ จากนั้นจึงนำบัญชีทั้งหมดออกจากระบบ”

สุรพล โอภาสเสถียร

ตัวอย่าง เดือนมีนาคม 2566 มีการค้างชำระ 100 บาท สถาบันการเงินสมาชิกจะส่งข้อมูลมาว่า บัญชีสินเชื่อนี้ในเดือนมีนาคม 2566 ค้างชำระ 31 วัน สถานะบัญชี 10 คือ ปกติ ซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงว่า มีการชำระค้างจริง

ต่อมาเดือนเมษายน 2566 ลูกหนี้ไปชำระหนี้ยอดที่ค้างเรียบร้อย ทำให้ในเดือนเมษายน 2566 ก็จะระบุว่า ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน สถานะบัญชี 10 คือ ปกติ

ดังนั้นในเดือนเมษายน 2566 ถ้าดูรายงานก็จะมี 2 บรรทัด ในบรรทัดเดือนมีนาคม 2566 มีข้อมูลค้างชำระ 31-60 วัน ส่วนบรรทัดเดือนเมษายน 2566 มีข้อมูลว่าไม่ค้างชำระ

ดังที่ได้นำเรียนเป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าสถาบันการเงินสมาชิกส่งข้อมูลผิด อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.ncb.co.th

(ที่มา : เครดิตบูโร)