เรียกได้ว่ากลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่โซเซียลพากันวิพากษ์วิจารณ์สนั่น หลังมีคุณแม่รายหนึ่ง ได้เห็นผลสอบของลูกชั้น ป.1 ปรากฏว่างงกับการตรวจของคุณครู จนต้องนำเนื้อหาของข้อสอบลูกชายมาแชร์ เพื่อให้ชาวเน็ตช่วยกันวิเคราะห์หาคำตอบของเรื่องนี้

โดยผู้ปกครองโพสต์ว่า “คำตอบจะเป็นข้อไหนคะ ป.1 ค่ะ ขออนุญาตเพิ่มเติมค่ะ คือ แม่พยายามทำความเข้าใจกับโจทย์ข้อนี้อยู่นานค่ะ ถามจากหลาย ๆ คน คำตอบแรกที่ทุกคนตอบคือ 2 พอแม่เฉลยผลตรวจว่า ข้อ 2 ผิด เหตุผลต่าง ๆ จากผู้ตอบจึงเกิดขึ้น”

“เช่น แม่ถามจากครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน คำตอบแรกของท่านคือข้อ 2 แต่ผลตรวจคือผิด ท่านจึงอธิบายว่า คำตอบที่ถูกคือข้อ 3 ประหยัด และท่านยังอธิบายเพิ่มว่า นอกจากจะต้องคิดวิเคราะห์แล้ว ยังต้องมีการคิดแบบสังเคราะห์เพิ่มด้วย บอกตรง ๆ ค่ะ แม่ไม่เข้าใจที่ครูท่านนี้อธิบายเลยค่ะ ป.ล.เป็นข้อสอบประเมิน หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 2 ได้ 3 วัน ของโรงเรียนรัฐบาล สังกัด สพฐ. ค่ะ”

นอกจากนี้คุณแม่ยังเผยโจทย์ดังกล่าวโดยมีเนื้อหาถามว่า
เป้เก็บมะนาวที่สวนไปฝากป๋องบ่อย ๆ ส่วนป๋องมักจะนำขนมที่แม่ทำไปฝากเป้ ทำให้สองครอบครัวสนิทกัน ข้อใดเป็นข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้
1.การมีวินัย
2.การมีน้ำใจ
3.การประหยัด

ซึ่งในรูปภาพเด็กได้ตอบข้อ 2 คือการมีน้ำใจ แต่เป็นคำตอบที่ทางคุณครูให้ผิด ซึ่งข้อที่ถูกต้องคือข้อ 3 การประหยัด อย่างไรก็ตาม เมื่อโพสต์ถูกเผยแพร่ออกไป งานนี้ทำเอาชาวเน็ตต่างเข้ามาวิเคราะห์กันล้นหลาม โดยเสียงส่วนใหญ่งงว่าทำไมข้อ 3 ถึงเป็นคำตอบที่ถูก

อาทิ
– อันมะนาวเข้าใจได้ว่าไว้เฉย ๆ รดน้ำมีลูกก็เก็บมาทานได้ เราก็นั่งคิดอยู่ว่า แล้วขนมมันไม่ใช้ต้นทุนเหรอมันประหยัดตรงไหน หรือถ้าทำเองก็ต้องมีค่าวัตถุดิบมั้ย
– หรือเราต้องวิเคราะห์ความหมายของภาษาไทยอย่างลึกซึ้งกว่านี้
– ข้อนี้จำกัดเฉพาะเรื่องการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก เพราะคำว่า ฝาก ทั้งขึ้นทั้งล่อง การมีน้ำใจคือคำตอบเดียวเท่านั้น ส่วนเรื่องการประหยัดไม่สามารถชี้เหตุผลไปทางนั้นได้เลย ถ้าคำตอบคือการประหยัด โจทย์ก็ผิด


– จริง ๆ ต้องตอบ ง. การรู้จักสร้าง connection เพื่อหวังผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
– อยู่ที่นิสัยของคนที่จะให้ความสำคัญของแต่ละคำตอบ ส่วนตัวขอตอบ การมีน้ำใจ
– ภาษาไทยต้องตีความความหมายกว้าง ๆ