เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) โดยมี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) ตร. พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สยศ.ตร. และเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เปิดโครงการผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Event)

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ผมเชื่อว่าหลายๆ คนจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นในเรื่องของโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ในวันที่ได้แถลงนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพูดถึงเรื่องของการจะทำอย่างไรที่จะลดความหวาดกลัวภัยให้กับพี่น้องประชาชน ความท้าทายของการทำงานในปัจจุบันก็จะทราบว่าด้วยสภาพงบประมาณที่จำกัด ด้วยสภาพของระบบราชการ ซึ่งไม่สามารถที่จะเพิ่มกำลังพลได้มากนัก และการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อาจจะมีปัญหาในหลายๆด้าน รวมถึงการมาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันแบบก้าวกระโดด เรามีความท้าทายที่จะต้องหาโซลูชั่นหรือกระบวนคิดวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อจะให้บรรลุวัตถุประสงค์

ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนนี้เรามีศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า คอมมูนิตี้ โปลิศซิ่ง หมายถึงกิจกรรมตำรวจชุมชนเรามีเรื่องการทำความปลอดภัยให้เกิดขึ้นโดยใช้ลักษณะทางกายภาพ แต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ทุกอย่างที่เอามารวมกันเราถึงได้เป็นต้นกำเนิดของโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 นี้ขึ้นมา ท่านอาจจะเคยได้ทราบว่าในตำรวจนครบาลเมื่อปีที่ผ่านมา เรามีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไปแล้ว 9,138 ตัว แล้วเรากำลังจะติดใหม่อีก 8,500 ตัว แต่ถามว่าโครงการนั้นกับสมาร์ทเซฟตี้โซนเหมือนกันไหม ถ้าเรามองดีๆ 9,138 ตัว กับ 8,500 ตัว อันนั้นวัตถุประสงค์ก็ติดเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เป็นประโยชน์ฝั่งหนึ่งของตำรวจในการจับกุมคนร้ายแต่สมาร์ท เซฟตี้ โซน เป็นมากกว่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของ concept ที่เรียกว่าสมาร์ท ซิตี้ ในยุคสมัยนี้ประชากรโลก 7,800 ล้าน องค์การสหประชาชาติบอกว่าอีก 20 ปีข้างหน้าโดยประมาณ เราจะมีประชากรเพิ่มเกือบ 2,000 กว่าล้านคน ในปริมาณคนขนาดนี้ การบริโภคทรัพยากรหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกิดความขาดแคลน concept ของสมาร์ท ซิตี้ อาจจะมีเรื่องของการใช้พลังงาน สาธารณสุข การจัดการกับสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การเคลื่อนย้ายของคน การเดินทางหลายๆ อย่าง ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ท ซิตี้ ถ้าเราอยู่ด้วยความหวาดกลัวภัย ไม่ว่าจะมีความเจริญมากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ความสงบสุขก็ไม่เกิด ใน concept ของสมาร์ท ซิตี้ หรือสมาร์ท ซีเคียวริตี้ หรืออะไรก็ตาม แต่ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความมีส่วนร่วมของทุกคน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีอนามัย ก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม เรามีโครงการทั้งหมด 15 สถานีตำรวจ แต่อยากให้มองว่าเป็นโครงการทดลอง เป็นโครงการนำร่อง เป็นแซนด์บ็อกซ์ที่เราจะเอากระบวนการทำงานใหม่ๆมาใส่ลงไป เอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่เราได้คัดสรรแล้วใส่ลงไปปัจจัยสำคัญอีกประเด็นหนึ่งนอกจากความร่วมมือก็คือเรื่องการปรับตัวในโลกอนาคต คำว่าผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่แข็งแรงผู้ที่อ่อนแอจะต้องพ่ายแพ้สูญเสียไป ก็อาจจะไม่ใช่แค่นั้นแล้วในโลกอนาคต ผู้แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอต้องมีความสามารถในการปรับตัวด้วย โครงการของเราก็เหมือนกันทุกคนมีส่วนร่วมในความล้มเหลวหรือความสำเร็จของโครงการนี้ อันที่สองเราต้องมีการประเมินและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราไม่เริ่มทีเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ ก็เพราะว่าเราจะต้องหาจุดที่ลงตัวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกัน เรามีสังคมที่เป็นเมือง สังคมกึ่งชนบท และสังคมชนบทในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักใหญ่ใจความคือเราตัดเสื้อตามรูปร่าง ฉะนั้นแต่ละพื้นที่แต่ละส่วนก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่าง จะทำจากเล็กไปหาใหญ่ เราจะทดลองเป็นขั้นเป็นตอน หาโซลูชั่นที่ดีที่สุดลงไปในแซนบล็อกที่เราเตรียม ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคเอกชน พี่น้องประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้แทนประชาชนทั้ง ส.ส. ส.ก. ส่วนราชการต่างๆ ทหาร ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ทุกๆ ภาคส่วนตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่ง ในการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอันนี้ แล้วก็จะตามมาด้วยอีกหลายๆโครงการ

ผบ.ตร. กล่าวว่า ในโลกดิจิทัลท่านอาจจะได้ยินคำว่าแพลตฟอร์ม เรามีแพลตฟอร์มเยอะแยะไปหมด ถ้าเมื่อ 6-7 ปีก่อนมีคนมาถามว่าคิดว่าโซเชียลมีเดียจะมีผลต่อสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าท่านอาจจะนึกไม่ออก แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ท่านจะเห็นว่าวันนี้มันมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ ต่อชีวิต ต่อการศึกษา ต่อทุกๆอย่างของคนในสังคมเรา ในชุมชนที่เราจะสร้าง เราก็จะสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเชื่อมต่อคนทุกคนในชุมชนเข้าด้วยกัน เป็นการสื่อสารสองทาง นอกจากเทคโนโลยีที่จะใส่เข้าไป อย่างที่วีดิทัศน์ที่เราได้เห็นเมื่อสักครู่ จะมีอะไรอีกมากมายที่เราจะลงมาทดลองแล้วใช้งาน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้ว อีกหลายปีจากนี้ไปอาจเห็นอะไรที่ก้าวกระโดดกว่านี้เยอะแยะ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยมันจะมีอะไรที่ชาญฉลาดกว่านั้น แม้แต่ระบบการเงินอีกมากมาย

“ผมเชื่อว่าถ้าเราทำงานด้วยกันมีการปรับปรุงปรับตัวตลอดเวลา โครงการนี้ก็จะประสบผลสำเร็จวันนี้ไม่ใช่วันที่เราจะมาประกาศความสำเร็จของโครงการนี้ แต่วันนี้เป็นวันที่ประกาศว่าเราจะเริ่มตั้งไจทำงานไปในทิศทางเดียวกันช่วยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จนกว่าโครงการนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ บรรลุความสำเร็จ ทั้งนี้ ก็เพื่อความสงบสุขความผาสุกของพี่น้องประชาชน” ผบ.ตร. กล่าว

จากนั้นมีสัมภาษณ์พิเศษของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ร่วมกับ ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ สส.เขต 2 กทม. ดร.ภาสกร ประถมบุตร รอง ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ นักจัดรายการโทรทัศน์ ในหัวข้อ “เปลี่ยนที่เปลี่ยวให้เป็นที่ปลอด (อาชญากรรม) ตามแนวทาง Smart City” โครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 ขับเคลื่อนบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและตัวชี้วัดสากล “WORLD INTERNAL SECURITY and POLICE INDEX : WISPI” เป็นการใช้การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกนำการปราบปราม

โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ได้มอบหมาย ให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะขับเคลื่อนโครง-การสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 ซึ่งได้คัดเลือกสถานีตำรวจนำร่องทั่วประเทศจำนวน 15 สถานี ประกอบด้วย สน.ลุมพินี สน.ห้วยขวาง สน.ภาษีเจริญ สภ.ปากเกร็ด สภ.เมืองสมุทรปราการ สภ.เมืองพัทยา สภ.เมืองระยอง สภ.เมืองปราจีนบุรี สภ.ปากช่อง สภ.เมืองอุดรธานี สภ.เมืองเชียงใหม่ สภ.เมืองพิษณุโลก สภ.เมืองราชบุรี สภ.เมืองภูเก็ต และ สภ.หาดใหญ่ โดยคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์ค แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน

ทั้งนี้ คณะทำงานได้นำผลสำรวจพีเพิลโพล (People Poll) และข้อเสนอแนะจากประชาชน มาพัฒนาการดำเนินโครงการ เพื่อสามารถปรับปรุงการทำงานของตำรวจให้ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

1.สำรวจกล้อง CCTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม

2.นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น มีการติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้าและกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น

3.ติดตั้งเสาสัญญาณ SOS เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที

4.จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฏิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อคอยควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

5.ใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น POLICE 4.0, POLICE I LERT U, Line OA, แจ้งความออนไลน์ รวมถึงการสร้าง Cyber Village เป็นต้น

6.ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่รกร้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง เป็นต้น

7.แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม

สำหรับโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 ช่วงระยะแรกใน 15 สถานีนำร่อง ได้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย “เปลี่ยนที่เปลี่ยวให้เป็นที่ปลอด (อาชญากรรม) ตามแนวทาง Smart City” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน ซึ่งในระยะที่สอง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีนโยบายให้ขยายโครงการเข้าสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 1 พื้นที่ 1 จังหวัด และมอบหมายให้ 15 สถานี นำร่องเป็นสถานีต้นแบบในพื้นที่ของตนเองในการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 ให้เกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัดต่อไป.