สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ว่า ทางการอินโดนีเซีย ออกกฎระเบียบห้ามการทำธุรกรรมสินค้าบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับความเสียหายจากอี-คอมเมิร์ซ ของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ส่งผลให้ติ๊กต็อก ต้องปิดธุรกิจชอปปิงออนไลน์ในเดือนถัดมา

แต่ตอนนี้ ติ๊กต็อกมีกำหนดกลับมาดำเนินธุรกิจดังกล่าวในอินโดนีเซียอีกครั้ง ภายใต้ข้อตกลงกับบริษัท โกทู โดยติ๊กต็อก จะซื้อหุ้น 75.01% ของ “โทโกพีเดีย” (Tokopedia) ในราคา 840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30,000 ล้านบาท) เพื่อควบคุมสัดส่วนการถือหุ้นในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะดำเนินการฟีเจอร์ชอปปิงในแอปพลิเคชัน และจัดหาการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท

“ติ๊กต็อกมุ่งมั่นที่จะลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกิจการที่ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อให้เงินทุนในอนาคต ตามที่ธุรกิจต้องการ โดยไม่ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อโกทู” ติ๊กต็อก ระบุในแถลงการณ์ “ติ๊กต็อก, โทโกพีเดีย และโกทู จะเปลี่ยนโฉมภาคส่วนอี-คอมเมิร์ซ ของอินโดนีเซีย และสร้างโอกาสในการทำงานหลายล้านตำแหน่ง ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้”

ด้านโกทู ระบุว่า ความร่วมมือข้างต้นจะเปิดตัวพร้อมกับโครงการนำร่อง ภายใต้การดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง และคาดว่าข้อตกลงนี้จะเสร็จสิ้นในปี 2567 ซึ่งโทโกพีเดีย จะได้รับตั๋วสัญญาใช้เงิน มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,000 ล้านบาท) จากติ๊กต็อก และสามารถนำมาใช้สำหรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในอนาคตได้

ขณะที่ผู้สันทัดกรณีหลายคน กล่าวว่า แผนการลงทุนของติ๊กต็อก จะนำการแข่งขันมาสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ของอินโดนีเซียมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศ อีกทั้งสำหรับติ๊กต็อก มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะลงทุนในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย แทนที่จะสร้างแพลตฟอร์มของตนเอง

อนึ่ง การแบนธุรกรรมสินค้าบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของอินโดนีเซีย ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำหรับติ๊กต็อก ซึ่งเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน รวมถึงคำกล่าวหา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับรัฐบาลปักกิ่ง.

เครดิตภาพ : AFP