จากกรณี น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ กล่าวหา อดีตนักมวยชื่อดัง ลวนลาม กระทำอนาจาร เหตุเกิดภายในห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายธนาธร ทาคำฟู นักวิชาการด้านกฎหมาย  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการที่กฎหมายอาญาของไทย ได้กำหนดหลักการไว้ว่า บุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาได้ จะต้องกระทำการที่ครบองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่

1. กระทำครบองค์ประกอบภายนอก และ

2. กระทำครบองค์ประกอบภายใน (มีเจตนา หรือประมาท)

เมื่อกระทำการครบทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว ผู้กระทำจึงจะมีความผิดในข้อหานั้นๆ ดังนั้น หากการกระทำมีแค่เพียง 1 ส่วน ก็ย่อมจะทำให้การกระทำที่เกิดขึ้นไม่เป็นความผิดในข้อหานั้นๆ

กล่าวถึงเฉพาะองค์ประกอบภายนอก ตามข้อ 1 ข้างต้น หมายถึง ข้อความที่ตัวบทกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำในเรื่องใดถือว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษสำหรับข้อหาความผิดนั้นไว้    ซึ่งปกติจะประกอบด้วยข้อความเกี่ยวกับผู้ใด ทำอะไร อย่างไร ต่อผู้ใดหรือวัตถุใด ซึ่งมีข้อน่าสนใจเกี่ยวกับการรู้หรือไม่รู้องค์ประกอบภายนอก คือ หากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบภายนอก กฎหมายจะถือว่าผู้นั้นขาดเจตนา กล่าวคือขาดองค์ประกอบในข้อ 2 นั่นเอง

ข้อหาพราก หรือพา บุคคลอายุ 15-18 ปี ไปเพื่อกระทำการอนาจาร ตัวบทในข้อหานี้ถือว่าอายุตัวของผู้ถูกพราก หรือพา เป็นองค์ประกอบภายนอก ซึ่งผู้กระทำจะต้องรู้จึงจะทำให้ผู้พราก หรือพาบุคคลอายุ 15-18 ปีไปนั้น ต้องรับผิดในข้อหานั้น ถ้าไม่รู้อายุตัวก็จะเป็นกรณีผู้นั้นไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ส่งผลให้ไม่มีเจตนา

กรณีที่ข้อเท็จจริงมีการพรากหรือพาผู้เยาว์อายุ 17 ปี ไปเพื่ออนาจาร แม้จะมีการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกเกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อผู้กระทำไม่รู้อายุตัวผู้ที่ตนพราก หรือพาไป จึงทำให้การกระทำนั้นขาดเจตนา ตามหลักการที่ว่าถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าไม่มีเจตนา เมื่อขาดเจตนาเท่ากับการกระทำไม่ครบทั้ง 2 ส่วน ส่งผลให้การกระทำนั้นไม่มีความผิดทางอาญาตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

ดังนั้น ในข้อหาพรากหรือพาผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร  ผู้ก่อเหตุจึงมีโอกาสต่อสู้คดีเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากข้อหาความผิดตามทฤษฎีดังกล่าวได้

สำหรับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา หรืออนาจาร บุคคลอื่นที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป กฎหมายมุ่งเอาผิดเฉพาะการข่มขืนชำเราหรืออนาจารที่เกิดขึ้นโดยหญิงที่ถูกกระทำไม่ยินยอม เป็นต้นว่า เกิดขึ้นจากการขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เท่านั้น ดังนั้น หากการชำเราหรืออนาจาร เกิดขึ้นจากความยินยอมของหญิง ผู้ร่วมประเวณีหรืออนาจารก็จะไม่มีความผิดในข้อหานี้  กรณีนี้หากผู้ถูกกล่าวหามีการต่อสู้คดีและรับฟังได้ว่าเป็นการสมยอม ก็จะทำให้ผู้ก่อเหตุพ้นผิดในข้อหานี้เช่นกัน

หมายเหตุ-ปัจจุบันกฎหมายห้ามผู้กระทำยกความไม่รู้เรื่องอายุตัวผู้ถูกพรากหรือพา หรือถูกกระทำชำเรา หรืออนาจาร เฉพาะกรณีกระทำต่อบุคคลอายุต่ำกว่า 13 ปี (ทำต่อเด็ก) แล้วจะมาอ้างว่าไม่รู้ ว่าผู้ถูกกระทำอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ได้เท่านั้น หากเป็นการกระทำต่อบุคคลอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ยังสามารถอ้างความไม่รู้อายุเพื่อต่อสู้คดีได้ หากต่อสู้และรับฟังได้ตามทฤษฎีข้างต้น ก็จะหลุดคดี