“อู๋ซีคู” และภรรยามี “ซวนโม่” เป็นลูกชายเพียงคนเดียว แต่แล้วชายหนุ่มกลับเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อปีที่แล้ว ในวัยเพียง 22 ปี ขณะที่เขากำลังศึกษาต่ออยู่ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ประเทศอังกฤษ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 พ่อแม่ผู้เศร้าโศกทั้งสอง ไปเยี่ยมหลุมฝังศพของลูกชาย ในมณฑลเจ้อเจียง อู๋ นำโทรศัพท์มือถือที่มีคลิปวิดีโอของ ซวนโม่ พูดปลอบใจพ่อแม่ไปด้วย และนำไปเล่นที่หน้าหลุมศพของเขา

อู๋ซีคูและภรรยาที่หน้าหลุมฝังศพของลูกชาย

คลิปภาพและเสียงของ ซวนโม่ นี้ เป็นคลิปที่ทำขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีเอไอ ซึ่ง อู๋ เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทเทคโนโลยีให้จัดทำขึ้นมา

อู๋ เล่าว่า เขาได้ไอเดียการสร้างตัวตนของลูกชายขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เขาฝันถึงลูกชายในฝันของเขา ซวนโม่ บอกเขาว่า “ป๊า คนน่ะ สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้นะ” 

จากจุดนั้น อู๋ ได้รวบรวมภาพถ่าย, คลิปเสียงและคลิปวิดีโอของลูกชายไว้เป็นข้อมูล และติดต่อไปยังบริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีเอไอหลายแห่ง จ่ายเงินไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้บริษัทช่วยสร้างลูกชายของพวกเขาในเวอร์ชั่นดิจิทัลขึ้นมาใหม่ จากข้อมูลที่เขารวบรวมไว้ และพวกเขาก็ได้เห็นทั้งใบหน้าและได้ยินเสียงพูดของ ซวนโม่ อีกครั้ง

อู๋ซีคูกำลังเล่นคลิปของ ซวนโม่ ที่ใช้เอไอสร้างขึ้นมาใหม่

สุดยอดความปรารถนาของ อู๋ ก็คือการสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาทั้งใบ เลียนแบบโลกในความจริง แต่ในนั้นจะมีลูกชายของเขาอยู่ด้วย

“เมื่อเราเชื่อมต่อความจริงเข้ากับโลกเมตาเวิร์ส ผมก็จะได้อยู่กับลูกชายอีกครั้ง” อู๋ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เขาหวังว่าระบบอัลกอริทึมจะช่วยให้อวาทาร์ของลูกชายเขา เรียนรู้การพูดและคิดแบบเดียวกับ ซวนโม่ “ผมสามารถ “เทรน” เขาได้ เขาจะได้รู้ว่าผมคือพ่อของเขา เวลาที่เขาเจอผม”

หนึ่งในบริษัทที่ อู๋ ติดต่อคือบริษัทซูเปอร์เบรน ซึ่งคิดค่าบริการระหว่าง 10,000-20,000 หยวน (ราว 50,000-100,000 บาท) ในการสร้างอวาทาร์ หรือตัวตนดิจิทัลของบุคคล 1 ราย โดยใช้เวลาประมาณ 20 วัน 

นอกเหนือจากการนำบุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว กลับมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านเทคโนโลยีเอไอ บริษัทยังมีบริการวิดีโอคอลให้ลูกค้า ได้พูดคุยกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือคนที่ไม่อาจเจอหน้ากันได้อีก เช่น อดีตคู่รักที่เลิกร้างกันไป โดยมีการสวมภาพของบุคคลที่ลูกค้าต้องการลงไปบนใบหน้าของพนักงานที่แสดงเป็นตัวแทนของอีกฝ่าย รวมถึงมีขั้นตอนการแปลงเสียงให้คล้ายอีกด้วย

จางเจ๋อเว่ย ผู้ก่อตั้งบริษัทซูเปอร์เบรน กล่าวว่า บริการเช่นนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างบริษัทของเขาในตอนนี้ ได้รับคำสั่งซื้อบริการในทำนองเดียวกันกับของ อู๋ เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 200 รายการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประเภทพ่อแม่ที่สูญเสียลูก ๆ จากโรคภัย, อุบัติเหตุหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

จางเจ๋อเว่ย ผู้ก่อตั้งบริษัทซูเปอร์เบรน กำลังรวบรวมภาพถ่ายและข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการสร้างตัวตนดิจิทัลตามคำสั่งของลูกค้า

จาง ยอมรับว่าเทคโนโลยีแบบนี้เปรียบได้กับ “ดาบสองคม” แต่เขาก็มองว่า ถ้าหากเป็นการช่วยเหลือคนที่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา นอกจากนี้ เขายังระบุว่า บริษัทของเขาจะไม่รับลูกค้าที่มีแนวโน้มว่าจะมีความคิดในแง่ลบหรือทำร้ายตัวเอง โดยเขายกตัวอย่างลูกค้าที่เขาปฏิเสธไปคนหนึ่ง ว่าเป็นแม่ที่ต้องการฆ่าตัวตายหลังจากที่เธอสูญเสียลูกสาวไป

สำหรับ อู๋ซีคู นั้น หลังจากที่ได้ลูกชายคืนมาในรูปของดิจิทัลแล้ว เขาก็กำลังคิดว่า อาจจะจัดการให้ตัวตนของเขาสามารถคงอยู่ในรูปดิจิทัลเช่นกันในอนาคต

“สักวันหนึ่ง ลูกชายผมและพวกเราก็จะได้อยู่ด้วยกันในโลกเมตาเวิร์ส” เขากล่าวในระหว่างที่ภรรยาของเขามีน้ำตานองหน้าต่อหน้าหลุมศพลูกชาย “เทคโนโลยีนี้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน อยู่ที่ว่าจะทำได้จริงเมื่อไหร่เท่านั้น” 

เครดิตภาพ : AFP