จากกรณีที่ ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงกระสุนปืนด้วยอาวุธแบลงค์กันกลางห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย ได้รับการส่งตัวเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แทนการคุมตัวไว้ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กเบื้องต้น เห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาและประเมินอาการทางจิตจากแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่นต่อเนื่อง ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในฐานะโฆษกกรมพินิจฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ถึงความคืบหน้าการเข้ารับการรักษาของ ด.ช. วัย 14 ปี ว่า นับตั้งแต่กรมพินิจฯ ได้รับตัว ด.ช. ครั้งแรก เราได้นำตัวไปดูแลที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร หรือบ้านเมตตา จากนั้นนักสหวิชาชีพเห็นว่า ด.ช. ควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยอาการเจ็บป่วย จึงส่งตัวไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ด.ช. จึงยังคงอยู่ในความดูแลของสถาบันกัลยาณ์ ภายใต้การบำบัดรักษาของหน่วยงานรัฐ ซึ่งการควบคุมตัวก็เป็นไปตามอำนาจที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้สถานพินิจมีอำนาจในการควบคุมตัว และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่จะเป็นสถานที่ควบคุมตัวชั่วคราว นี่จึงเป็นกรอบการทำงานที่กรมพินิจฯ ประสานกับ รพ. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสุขภาพจิตของเด็ก ยังคงอยู่ระหว่างแพทย์เฉพาะทางสถาบันกัลยาณ์ประเมินวินิจฉัยอย่างต่อเนื่อง กรมพินิจจะไม่สามารถดำเนินการล่วงล้ำในการรักษาของแพทย์ได้

โฆษกกรมพินิจ เผยอีกว่า ด.ช.ยังคงอยู่ระหว่างการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่มีผลสรุปว่า ด.ช. มีสภาวะทางจิตเวชหรือไม่ เพราะทางแพทย์ผู้ทำการรักษาจะไม่มีการรายงานผลที่เกี่ยวกับหัตถการการรักษามายังกรมพินิจ ทั้งเรื่องการจ่ายยาปรับสารเคมีในสมอง เนื่องจากเป็นข้อมูลของผู้ป่วยและยังเกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็ก จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ และเราก็ไม่สามารถไปประเมินสุขภาพจิตของเด็กได้ เพราะกระบวนการนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินพอสมควร แต่เท่าที่ตนทราบในกระบวนการของสถาบันทางการแพทย์ที่รักษา จะมีการส่งรายงานวินิจฉัยไปยังศาลแทน หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนก็สามารถเรียกผลการรักษาจากแพทย์ได้ แต่ ณ ตอนนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการผัดฟ้อง หากจะมีการสั่งฟ้องต่อศาล ทางสถานพินิจก็จะต้องรายงานเสนอไปยังศาลให้รับทราบต่อไป ส่วนรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ด.ช. ไม่ว่าจะเป็นรายงานประวัติส่วนตัว การประพฤติ สติปัญญา การศึกษา สภาพจิต พฤตินิสัย เเละพฤติการณ์ในคดีทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเด็ก เราได้เรียบเรียงส่งให้พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ประกอบสำนวนสำหรับการสั่งฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ กรมพินิจมีหน้าที่ในการกำกับดูแลเด็กในระหว่างกระบวนการทางคดี

โฆษกกรมพินิจ เผยต่อว่า ในกรณีที่แพทย์มีความเห็นวินิจฉัยส่งกลับเด็กมายังสถานพินิจ และผู้ปกครองไม่ยื่นประกันตัว หรือศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เด็กก็จะต้องอยู่กับสถานพินิจ (บ้านเมตตา) ต่อไป แต่ถ้าหากเด็กได้รับการประกันตัว ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องรับตัวเด็กไปดูแลอย่างใกล้ชิด

“สำหรับหลักกระบวนการหากพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องก็จะต้องรับตัวเด็กจากสถานพยาบาลไปส่งฟ้องต่อศาล และหากเด็กมีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ก็จะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนและศาลเยาวชนฯ ส่วนถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว เด็กก็จะต้องกลับมาอยู่ที่สถานพินิจ (บ้านเมตตา) อีกทั้งในกรณีที่ทางสถานพยาบาลมีความเห็นว่าเด็กไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางก็พิจารณาส่งกลับมายังสถานพินิจได้เช่นเดียวกัน ส่วนการรับยาต่างๆ ก็สามารถไปรับยาที่สถานพยาบาลได้” โฆษกกรมพินิจ ระบุ

ทั้งนี้ โฆษกกรมพินิจ ฝากประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนอยู่ระหว่างการเปิดภาคการศึกษา และเนื่องด้วยมีสถานประกอบการเปิดจำนวนมาก ปัญหาตอนนี้ คือ คดีเด็กและเยาวชนเริ่มมีจำนวนมากขึ้น เพราะเด็กกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวันปกติ และอัตราคดีความผิดในปีนี้ พบว่าคดีเกี่ยวกับความรุนแรงพบมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และคดีเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด จำนวนคดีที่มีเด็กเป็นผู้กระทำความผิดกลับเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ตรงนี้คือตัวสะท้อนให้เราเห็นว่าจะต้องกำชับให้ทางสถาบันครอบครัวระมัดระวัง เพราะอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน สามารถหาซื้อทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น และราคาถูก ทั้งยังนำไปดัดแปลงได้ ตนจึงฝากให้ครอบครัวช่วยดูแลสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน และเพิ่มกิจกรรมภายในครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการสูญเสียในอนาคต และเบี่ยงเบนความสนใจผิดๆ ในตัวเด็กได้.