ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละประเทศก็ออกมาตรการต่างๆ มาเร่งแก้ปัญหานี้ มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จสามารถลดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะค่าฝุ่น PM 2.5  และประเทศที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

‘ชัชชาติ’ ยันกทม.ทุ่มเต็มที่แก้ฝุ่น PM2.5 แต่มีปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้

2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังรุนแรง

รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลฝุ่นทุกชนิดมานานหลายสิบปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เดลินิวส์” โดยมองสถานการณ์ฝุ่น  PM2.5 ในพื้นที่ กทม.ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า  เรื่องของฝุ่นตนทำมาหลายปี บางปีความเข้มข้นของฝุ่นก็เบาบางลง แต่ไม่ใช่จากมาตรการควบคุมและป้องกัน บางปีลมฟ้าอากาศเอื้ออำนวยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เราก็เห็นสภาพอุณหภูมิผกผันที่จะทำให้เกิดความสะสมของมวลสาร ดังนั้นเรื่องของฝุ่น ภาพเหล่านี้จะเดจาวูซ้ำๆ กลับมาใหม่ สุดท้ายเราก็ยังพึ่งพาลม ฟ้า อากาศเป็นส่วนใหญ่ และถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะพยายามมีหลายมาตรการออกมา แต่เมื่อมาเจอกับสภาพกรมอุตุนิยมวิทยาที่เกินคาด ถ้าไม่ประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม ความพยายามนั้นก็จะหายไป หรือไม่เกิดผลในเชิงของการลด

“ดังนั้น สรุปง่ายๆ สถานการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมายังคงเหมือนเดิม ยังคงมีความรุนแรงของฝุ่นคล้ายกับของเดิม”

ส่วนคำถามที่ว่า ที่ผ่านมามีนโยบายแก้ปัญหาอย่างไร มีนโยบานใดสำเร็จ หรือล้มเหลว หรือมีอะไรคืบหน้าไปแล้วบ้าง รศ.ดร.สุรัตน์ ตอบว่า การผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ คือการที่อยากจะเห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือมีการปรับค่ามาตรฐานค่าฝุ่น จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มองแล้วเป็นภาพที่ดี แต่ความสำคัญของการปรับค่ามาตรฐาน คือจะทำอย่างไรให้ให้ค่ามาตรฐานมันอยู่ในเกณฑ์ ตนให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการมากกว่า

ที่ผ่านมาได้รับทุนในการวิจัยเกี่ยวเรื่องการศึกษามาตรการและประสิทธิภาพในการลดฝุ่นละออง พบว่าส่วนใหญ่ มาตรการของภาครัฐ เรียกว่าเป็นมาตรการเชิงรับ เช่น การขอความร่วมมือกันเพื่อที่จะลดการใช้รถใช้ถนน ขอความร่วมมือเข้าไปปรับเปลี่ยนสภาพเครื่องยนต์ เป็นต้น ส่วนมาตรการเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับ การห้ามรถบรรทุกใหญ่ที่จะเข้ามาในวงแหวนชั้นในก็มีอยู่บ้าง

แต่อย่างไรก็ดีความเข้มข้นของฝุ่นไม่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ลดลงบ้างในบางเวลาแต่ก็ค่อนข้างยากที่จะแยกว่าค่าฝุ่นที่ลดลงเป็นเพราะ สภาวะของอุตุนิยมวิทยา หรือมาตรการควบคุมป้องกัน โดยเฉพาะมาตรการเชิงรับ ตนมองว่า เราไม่สามารถทำมาเป็นเชิงปริมาณได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับคน หรือจำนวนคนที่เข้ามา ซึ่งมีความหลากหลายเลยทำให้การชี้ชัดไม่เกิดขึ้น

สุขภาพประชาชนสำคัญมากกว่าเศรษฐกิจ?

รศ.ดร.สุรัตน์ ยังให้ความเห็นถึงการลดค่ามาตรฐานฝุ่น จาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลงมาเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ว่า  ในทางทฤษฎี การลดค่ามาตรฐานลงมา จะต้องมีมาตรการเข้ามารองรับด้วยว่าจะทำอะไรบ้างที่จะให้ค่าฝุ่นลดลงมาต่ำกว่าเดิม แต่ปัจจุบันนี้มาตรการที่เคยมีอยู่ตอนที่ใช้ค่าฝุ่น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กับ ค่าฝุ่น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แทบจะไม่ต่างกัน จึงกลายเป็นช่องว่างที่ถึงแม้ว่าจะประกาศใช้มาตรฐานใหม่ แต่มาตรการยังคงเดิม ยกตัวอย่างหากเป็นรถยนต์ เครื่องยนต์เหมือนเดิม เพียงแค่ตกแต่งทาสีด้านหน้าให้ดูดีขึ้น แต่เวลาวิ่งก็วิ่งได้เหมือนกับสภาพรถที่เป็นสภาพรถเดิม

ในฐานะนักวิชาการ เราจะแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไร และใช้เวลานานแค่ไหน รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวว่า มองว่าความยากของหน่วยงานภาคราชการ ถ้าทำเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะไปกระทบกับเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของสังคม ซึ่งหลายคนก็คงไม่อยากทำ แต่เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงแล้วว่า “สุขภาพของประชาชนสำคัญมาก กว่าเศรษฐกิจรึเปล่า?” ดังนั้น ถ้าเริ่มปรับเปลี่ยน มาตรการที่มีความเข้มแข็งก็ต้องเริ่มออกมา  อย่างเช่น ประเทศเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ ก็มีมาตรการในการคุมกำเนิดให้รถยนต์ไม่เกินจำนวนที่วางไว้ การใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาษี  เป็นต้น  ดังนั้นปัจจุบันเรามีทางเลือกในการเดินทาง เช่น ใช้รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนสาธารณะ เหมือนตอนนี้เรามีสิ่งต่างๆแล้ว ระบบขนส่งมวลชนมีทุกอย่าง แต่มันยังไม่เข้าที่เข้าทางที่จะรับลูกซึ่งกันและกัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเริ่มดำเนินการ

รศ.ดร.สุรัตน์ ยังให้คำแนะนำชาวกรุงเทพฯ ในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัย ไม่เจ็บป่วย ว่า เบื้องต้นควรจะบริโภคข้อมูลให้เป็นในเรื่องของการอ่านค่าฝุ่น แล้วจะบริโภคข้อมูลอย่างไร ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายเว็บไซต์ และมีข้อมูลหลายข้อมูล  สามารถใช้ดูประกอบ เช่น ดูว่าค่าฝุ่นสูงหรือต่ำ และถ้าให้แน่ชัดจริงๆก็เป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ Air4thai หรือของ กทม. หลังจากนั้นก็มาตัดสินใจว่า ค่าฝุ่นที่เห็นควรจะออกไปทำกิจกรรมไหม ถ้าค่าสูงก็ควรงด หรือหลีกเลี่ยง พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ ในการป้องกันตัวเอง ทั้งหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศก็ควรจะต้องใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว  และก็ควรที่จะช่วยกันในการลดการปลดปล่อยมลพิษ เช่น ควรใช้รถโดยสารขนส่งสาธารณะ ฯลฯ

หน่วยงานหลัก 1 เดียวมีอำนาจสูงสุด

นอกจากนี้  รศ.ดร.สุรัตน์ ยังให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ในบางประเทศเมื่อเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติก็จะมีหน่วยงานหลัก 1 หน่วยงานที่คอยออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เหลือปฏิบัติการเรียกว่าเป็น single command เพื่อจะได้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกันหากประเทศไทย จะสามารถมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่จะมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เป็น single command มีอำนาจสูงสุดในการสั่งให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติเพื่อควบคุมและป้องกัน รวมทั้งสั่งยกเลิกหากค่าฝุ่นลดลงหรือเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะดี  “เราต้องเอาเรื่องคุณภาพเข้ามามากกว่าเรื่องของผลประโยชน์”

ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยามีการพยากรณ์คาดการณ์ว่า ในอีก 2 วันข้างหน้าสภาพอากาศปิดส่งผลให้ค่าฝุ่นสูงขึ้น และให้มีข้อสั่งการจากกรมอุตุนิยมวิทยามาพร้อมกันว่าให้ทุกหน่วยงานที่อยู่หรือเกี่ยวข้อง กับเรื่องของฝุ่นปฏิบัติตามขั้นตอนตามลำดับ โดยที่แต่ละหน่วยงานไม่ต้องออกประกาศหรือคำสั่งซ้ำ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ เป็นผู้ยกเลิกคำสั่งนั้นๆ  ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาคราชการก็ทำ หลายๆหน่วยงานก็ทำ ทำงานกันหนักด้วย แต่บางครั้งไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หนุนมีเครื่องมือย่อยข้อมูลส่งประชาชน

ในส่วนข้อมูลข่าวสารที่ กทม.หรือภาครัฐ ส่งไปถึงประชาชนนั้น  รศ.ดร.สุรัตน์ บอกว่า ในส่วนของข้อมูลที่มีออกมา ข้อมูลก็คือตัวเลข ที่ตรวจวัดได้ ใครก็ตามก็มีข้อมูล ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หรือประชาชนเองก็มีข้อมูล แต่ข้อมูลเหล่านั้น เป็นข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการกรอง การดูจากผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งในเชิงของทางด้านการศึกษา บอกไว้ว่า หลังจากมีข้อมูล จะต้องเปลี่ยนมาเป็น information  หรือ สารสนเทศ ที่ผ่านการคัดกรองหรือดูแล้ว เมื่อมีคนคัดกรองแล้ว เอาเข้ามาอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบของ Air4thai หรือ กทม.ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญดูอยู่แล้ว  และ Information เหล่านี้ควรจะถูกนำไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการตัดสินใจ ต้องเกิดจากข้อมูลและ information ที่ดี ทำให้ข้อมูลมีคุณภาพ

สำหรับคำถามที่ว่า ปัจจุบันมี App มากมายแจ้งเรื่องฝุ่น ถ้าหากจะมี Web App หรือ App อีกสักอันที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารของภาครัฐและข่าวจากสื่อมวลชน เพื่อเป็นสื่อกลางไปถึงประชาชน พร้อมระบบแจ้งเตือน ทั้งเรื่องฝุ่นและเรื่องสำคัญอื่นๆ นั้น  รศ.ดร.สุรัตน์ ให้ความเห็นว่า หากนำข้อมูลมาย่อยให้กับประชาชนได้รับรู้ มองว่าเป็นเรื่องที่ดี  เพราะเรื่องของข้อมูล มันเป็นวิทยาศาสตร์ หากนักวิทยาศาสตร์พูดก็จะใช้ คำศัพท์หรืออะไรก็ตามที่อาจทำให้เข้าใจยาก แต่การทำเข้าสู่ระบบการสื่อสาร หรือการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ลงไปถึงผู้บริโภค ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรจะทำ แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือจะเป็นช่องทางเดียวที่คนจะกดเข้าไปบริโภคข้อมูลได้ และควรมีกิจกรรมเพื่อเป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ด้วย