กรณีมีการนำเสนอข่าว โครงการโคบาลชายแดนใต้ พบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงกับสัญญาและคุณลักษณะเฉพาะไม่ตรงตามที่กำหนด จึงทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในโครงการนำร่อง เริ่มกังวลใจ เนื่องจากจำเป็นต้องขายวัวสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จึงได้ราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์หลายเท่า หากปล่อยให้ตายก็จะขาดทุน ส่วนวัวที่เหลืออยู่ มีค่าใช้จ่ายทั้งอาหารและยารักษาโรค เพราะแม่พันธุ์วัวที่ได้รับการส่งมอบ 50 ตัวต่อกลุ่ม น้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์ที่สัญญาไว้ และบางตัวติดโรค ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะที่ 2 ที่ตั้งเป้าจะขยายเป็น 400 กลุ่ม เริ่มไม่มั่นใจจะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ด่วน! ‘ธรรมนัส’ สั่งตั้งกรรมการสอบโครงการ ‘โคบาลชายแดนใต้’ หลังพบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงสัญญา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถึงผลจากการดำเนินการในระยะนำร่องตั้งแต่เมษายน 2566 เป็นต้นมา มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่องแล้ว 47 กลุ่ม (ร้อยละ 78.33) เบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท (ร้อยละ 40.43) และได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนพร้อมลานปล่อย (คอกกลางประจำหมู่บ้าน) จำนวน 40 หลัง (ร้อยละ 66.67) จัดซื้อแม่โคพันธุ์พื้นเมือง กลุ่มละ 50 ตัว 1,150 ตัว (ร้อยละ 38.33) จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละ 10 ไร่ 780 ไร่ (ร้อยละ 65.00) แต่ยังไม่มีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร สำหรับดูแลแม่โคในคอกกลาง

จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่า คอกกลางตามแบบในโครงการแคบ ไม่เหมาะสมกับการพักฟื้นของโคแม่พันธุ์พื้นเมือง เกษตรกรไม่ชอบการเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองในคอกกลาง เนื่องจากจัดการดูแลโคแม่พันธุ์พื้นเมืองให้ทั่วถึงทำได้ยาก จึงแยกกันนำไปเลี้ยงในสวนปาล์มน้ำมันของตนเอง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการทำแปลงหญ้าที่ชัดเจน อาหารเลี้ยงโคแม่พันธุ์พื้นเมืองยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้โคแม่พันธุ์พื้นเมืองทรุดโทรม อ่อนแอ และตายบางส่วน และพื้นที่จัดคอกกลางบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่สงวน ซึ่งไม่สอดรับกับหลักเกณฑ์คู่มือในโครงการ จึงทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้

อย่างไรก็ดี ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) จึงมีข้อเสนอการดำเนินการกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565-2571) ระยะที่ 2 เพื่อพิจารณามอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ปรับปรุงคู่มือการดำเนินงานให้สอดรับวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ และแก้ไขข้อจำกัดการดำเนินงานในระยะนำร่องในประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 เกษตรกรในฐานะผู้กู้สามารถพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าในการทำสัญญาซื้อ-ขาย เพื่อจัดหาแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีตามโครงการ ทั้งนี้ ในการจัดแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีเพื่อให้ได้หลักประกันว่าเป็นแม่พันธุ์ที่จัดซื้อนั้นสามารถให้กำเนิดลูกวัวได้ ดังนั้น ควรจัดหาหรือกำหนดแม่โคพื้นเมืองพันธุ์ดีที่มีลูกติดเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกษตรกรผู้กู้มั่นใจในความสามารถของแม่พันธุ์ที่สามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกวัวได้ โดยในกระบวนการตรวจรับ เห็นควรให้สถาบันวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค และตัวแทนสมาชิกกลุ่มที่ทำการกู้ มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา

ประเด็นที่ 2 ให้สมาชิกกลุ่มสามารถแยกนำแม่พันธุ์โคพื้นเมืองไปเลี้ยงในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นที่ที่มีอาหารสมบูรณ์และต้องปลอดภัยต่อสุขภาพสัตว์ได้รายละ 5 ตัว

ประเด็นที่ 3 เกษตรกรสามารถผสมพันธุ์โคแม่พันธุ์พื้นเมือง โดยใช้พ่อพันธุ์หรือน้ำเชื้อสายพันธุ์ที่ตนเองประสงค์และสะดวกทันท่วงทีกับการเป็นสัตว์ของโคแม่พันธุ์พื้นเมืองได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีตลาดรองรับแน่นอน

ประเด็นที่ 4 ให้ใช้พื้นที่คอกกลางเป็นคอกสำหรับการขุนลูกที่โคแม่พันธุ์พื้นเมืองคลอดและเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ประเด็นที่ 5 วงเงินกู้หมวดกิจกรรมการจ้างแรงงานเพื่อดูแลโคแม่พันธุ์พื้นเมืองในคอกกลางสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ หากยังไม่มีการขุนโคในคอกกลาง

​อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ได้มีการแก้ไขปัญหาและการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาล โดยเบื้องต้นในวันที่ 24 ธ.ค. 2566 รองเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมปศุสัตว์จังหวัดสตูล ได้ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ จ.สตูล เพื่อติดตามโครงการชายแดนใต้ ระยะนำร่อง รับฟังความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทั้งนี้ ทาง ศอ.บต. ยังได้จัดทำข้อเสนอไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอให้มีการปรับปรุงคู่มือการให้เงินกองทุนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

โดยมีเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับปรุงตามปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน อาทิ เอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ที่จำเป็นตามกำหนดในคู่มือ ยังไม่สอดคล้องกับข้อปฏิบัติจริงในพื้นที่ การพัฒนาศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ หรือฟีดเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประชาชนในพื้นที่เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตอาหารสัตว์ด้วยตนเองได้ ปัญหาการตรวจรับแม่วัวที่ไม่ได้รับมาตรฐานตามที่คู่มือกำหนด

ทั้งนี้ ศอ.บต. ขอบคุณทุกภาคส่วนเป็นอย่างยิ่งตามที่ร่วมมือ ร่วมใจกันสำรวจ ตรวจสอบและแจ้งข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการโคบาลชายแดนใต้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม การดำเนินการไม่เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้ ทั้งยังเป็นการยืนหยัดบนผลประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ที่คาดหวังจะให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของครอบครัวมุสลิมทั่วโลก

หากท่านมีข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อความอยู่ดีมีดีของพี่น้องประชาชนด้วยกัน ขอได้โปรดนำส่งข้อมูลแจ้งให้ ศอ.บต. ทราบอีกทางหนึ่งทางโทรศัพท์ 1880 เพื่อจะได้ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ปราศจากการทุจริตและการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมในทุกขั้นตอนการทำงานต่อไป.