ทำเอาชาวเน็ตถึงกับแชร์ พร้อมขอเซฟวิธีบริหารจัดการกันเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กสาว @Amphika Chaikoed ได้ออกมารีวิวผ่านกลุ่ม “Freedom Topic พูดคุย-แลกเปลี่ยนประสบการณ์ [TH]” ถึงวิธีการบริหารเงิน 1,600 บาท เป็นค่าอาหารสำหรับ 2 คน ใน 1 เดือน สำหรับการอยู่ใน กทม. ให้รอดได้อย่างไร

โดยเจ้าของโพสต์ระบุว่า “รีวิว เงิน 1,600 ค่ากิน 2 คนใน 1 เดือน ฉบับคนมีตู้เย็นและเครื่องกรองน้ำ #แบบไม่กดดันตัวเอง ใน กทม. ที่อยู่ละแวก ม.ศรีปทุม ม.เกริก ม.ราชภัฏพระนคร” เราซื้อ หมู ไก่ เนื้อ ปลา ลูกชิ้น ไข่ไก่ไซซ์ s หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาหารสด เครื่องเทศ เส้นแก้ว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นสปาเกตตี นม น้ำหวาน ผลไม้ ที่โลตัส เราไปช่วง 20.00 น. พวกอาหารสด มักจะได้ป้ายเหลือง ราคาลดไปได้เยอะมาก 50% 80%

ข้าว เราดูตามโปรโมชั่น กับเทียบราคาร้านขายส่ง อันไหนข้าวดีถูกกว่า ก็จะเลือกอันนั้น เฉลี่ยเดือนละ 5 กิโล #บ้านเราข้าวเหลือตลอดเพราะมีกินอย่างอื่นด้วย (พวกเส้นแห้งจะอยู่ได้นาน ซื้อมาเหลือเหมือนกัน) ส่วนผัก ไปซื้อที่ #ตลาดยิ่งเจริญ ราคาถูกมาก ผักเป็นกำ 3 กำ 10 บาท เป็นถุง 20 = 3 ถุง 50 ถ้าไปเจอตอนใกล้เก็บร้าน 18.30-19.00 น. เหลือถุงละ 10 บาท ผักสลัดซื้อมาครึ่งโล (ถุงใหญ่มาก) กิโลละ 50 ครึ่งโล 25 บาท ได้มาถุงเบ้อเริ่ม ตอนค่ำแม่ค้าขยันแถมสุดๆ ได้ผักมาเยอะแยะหลากหลายมากๆ นั่ง รถเมล์แดงเที่ยวละ 8 บาท นั่งรถเมล์แอร์ 15 บาท bts สายเขียวเที่ยวละ 15 บาท “เมนูอาหาร มี 2 แบบ หม้อใหญ่ กับทำเฉพาะเมนู รายการอาหารส่วนมากของเราจะซ้ำๆ เพราะ เลือกกินเลือกทำแค่อันที่ชอบ”

สำหรับเมนูอาหาร หม้อใหญ่ ไว้ตักแบ่งเป็นกล่องเข้าตู้เย็น
1. พะโล้
2. แกงส้ม (ตอนจะกิน ทอดไข่เจียวหรือใส่เนื้อสัตว์ ก่อนเวฟหรือก่อนอุ่น)
3. ต้มจับฉ่าย
4. ต้มซุปไก่
5. มัสมั่น
6. แกงกะหรี่
7. ต้มข่าไก่
8. ต้มแซ่บ/เล้ง (ตอนจะกินค่อยเอามาปรุง)
9. ไก่ต้มน้ำปลา
10. ต้มจืด
11. น้ำพริกกะปิ (ใส่กล่องเล็กๆ)

เมนูทั่วไป
1. ยำวุ้นเส้น/เส้นแก้ว/ลาบเส้นแก้วใส่เห็ด
2. สุกี้/ชาบูน้ำดำ
3. ผัดกะเพรา
4. กุ้งทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียม หมูทอดกระเทียม (เปลี่ยนทุกอย่างตามความอยากกิน)
5. ตั้งน้ำซุป ไว้ทำข้าวต้ม ตอนจะกินเอาข้าวสวย ใส่น้ำซุป แล้วเอาของที่เราอยากกินต้มลงไป (เช่นเอาน้ำซุปตั้งไฟ เอาปลาใส่ลงไป สุกยกลงใส่ข้าว ปรุงตามชอบ) *เช้า
6. ข้าวตุ๋น ใส่ทุกอยากที่เหลือลงไปต้มให้นัว (ตอนเช้า)
7. สลัด จะโรล จะยำได้หมด เอาตามชอบ *เช้า ส่วนมากเราจะโรลกับลูกชิ้น ถ้ายำกินกับผลไม้
8. ข้าวน้ำพริกกะปิ ผักต้ม ผักทอด ไข่เจียว ไข่ต้มก็ได้ ถ้าเหลือน้ำพริกเยอะช่วงสิ้นเดือน เอาไปทำแกงรัญจวน
9. ปลาทอดราดน้ำปลา ปลานึ่งก็อร่อย ตำน้ำจิ้มแซ่บๆ
10. ข้าวไข่ดาว/ไข่ต้ม/ไข่เจียวราดซอส
11. ถ้าไข่ต้มเยอะ เอาไปทำไข่ลูกเขย
12. ยำไข่ดาว/ลาบไข่ดาว
14. ข้าวผัดไข่/ผัดหมู
15. ขาวไข่ข้น
16. ข้าวไก่ทอด ทงคัสสึ/ไก่ทอดเทอริยากิ
17. ข้าวหน้าหมู/ไก่ (ต้มไข่ลวกกก) อันนี้ทำบ่อยเพราะชอบ
18. ไข่ตุ๋น
19. ไข่กระทะ (เราใส่กล่องเวฟแทน)
20. ไข่น้ำ
21. ไก่ทอด (เราเอากินคู่กับน้ำจิ้มแจ่ว)
22. ไก่ใต้น้ำ
23. เมี่ยงหมูสามชั้น

นอกจากนี้ เธอยังแชร์วิธีการจัดการกับเนื้อสัตว์ด้วยว่า “หมู สามชั้น เศษไก่ โครงไก่ ปลา หั่นเอามาแยกใส่กล่องไว้ (กล่องไม่พอใส่ถุง) ให้พอดีกับที่ทาน เวลาเอามาละลายน้ำ จะได้ไม่นาน (ยัดเข้าฟรีซจะอยู่ได้นาน) เราเอาไก่ ไข่ กับหมูมาปั่นรวมกันไว้ ไว้ทำลูกชิ้นหมู เอาไว้ต้มกินกับชาบูน้ำดำก็ได้ สุกี้เราหมักหมูใส่ถุงไว้ตอนจะกินเท ลงต้ม หมูสุกใส่ผัก (แยกเส้นไว้ตอนจะกินค่อยเอาใส่ลงไป) ปลาหมึก หั่นใส่ถุงใส่กล่อง กุ้งเลาะหัวออก หัวเอาไปต้ม ทำต้มยำได้ ส่วนตัวกุ้ง ยัดใส่ช่องฟรีช ในรูปคือ จะสิ้นเดือนแล้ว ยังเหลือของอยู่”

อย่างไรก็ตาม เธอได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า สิ่งที่เธอทำได้ไม่ได้แปลว่าหลายๆ คนจะทำได้ ตัวเองไม่ได้บังคับตัวเอง Happy ทุกมื้อ ไม่ฝืน แค่เป็นคนกินยาก เด็กๆ กินข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวอย่างดี ที่พ่อแม่ปลูก เมื่อไปกินข้าวตามร้านอาหารตามสั่งก็จะยากเพราะข้าวแข็ง ประกอบกับการทำงานประจำที่แรกทำที่ร้านอาหาร ซึ่งแม่ครัวทำอร่อยมากๆ จึงกลายเป็นมาตรฐานในการกินโดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อย้ายงาน เธอจำตัดสินใจทำอาหารทานเองแล้วมีความสุขมากกว่าซื้อกินจากร้านข้างนอก

ส่วนที่มีคนถามเรื่องเงินเดือนเท่าไหร่ ทำไมจำกัดการกินแบบรัดตัวขนาดนี้นั้น เธอได้ชี้แจงเอาไว้ว่า “เรากินครบ 3 มื้อน้า ไม่ได้บังคับว่าต้องเท่านี้เท่านั้น ขนมเราก็เหลือ น้ำหวานก็มี ผลไม้ก็ฉ่ำ แต่ต้องตัดชานมออกเพราะน้ำหนักขึ้นแบบพรวดพราด เสื้อผ้าที่เคยใส่ได้แทบจะใส่ไม่ได้แล้ว เคยคิดว่าทำกับข้าวจะผอม ไม่อะ กินแซ่บกว่าเดิม”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Amphika Chaikoed