เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ทำหนังสือไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อขอรับทราบความคืบหน้าคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีความผิดมาตรา 112 เนื่องจากนายทักษิณ เคยไปกล่าวรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวที่ต่างประเทศ

ซึ่งตำรวจ ปอท. ได้มีการสรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการสูงสุดเห็นฟ้องมีคำสั่งเด็ดขาดให้ฟ้องนายทักษิณ มีความผิดตามมาตรา 112 กระทั่งนายทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยัง บก.ปอท. อีกครั้ง ต่อมาวันที่ 18 ต.ค.66 ทางตำรวจ บก.ปอท. ได้ส่งหนังสือชี้แจง ระบุใจความบางช่วงบางตอนว่า “ได้มีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมกับประสานงานขอให้พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหา ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แจ้งว่าผู้ต้องหามีอาการเจ็บป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ กรณีดังกล่าวหากได้รับการแจ้งประสานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครถึงความพร้อมเมื่อใด พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนจะเข้าทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหาโดยทันที”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ม.ค.67 นางวิรังรอง ยังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และได้รับการตอบกลับผ่านหนังสือมาว่า “ขณะนี้ผู้ต้องหาถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ประสานไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้เข้าไปภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือสถานที่ผู้ต้องหาถูกจำคุกอยู่เพื่อดำเนินการดังกล่าวได้ กรณีมีเหตุขัดข้องทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแล้วและประสานงานขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำผู้ต้องหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครโดยเร่งด่วน เมื่อได้รับแจ้งกำหนดวันเวลาและสถานที่จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะเข้าร่วมทำการสอบสวนต่อไป”

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 6 ก.พ. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการยืนยันจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งการขออายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคดีคงค้างเดิม ซึ่งตนได้รับการยืนยันจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคำนายทักษิณเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

นายสหการณ์ เผยว่า ส่วนกรณีที่มีหนังสือตอบกลับจากตำรวจ ปอท. ไปยังผู้ร้องเมื่อวันที่ 18 ต.ค.66 นั้น อาจจะเพราะว่าในตอนนั้นพนักงานอัยการยังไม่ได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีระหว่างการอายัดตัวผู้ต้องขังทาง ผบ.เรือนจำฯ จะไม่ได้มีการรายงานมาที่กรมราชทัณฑ์ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจและอัยการเจ้าของคดีในการสอบสวนปากคำ อีกทั้งหนังสือขออายัดตัวผู้ต้องขังถือเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างตำรวจและกรมราชทัณฑ์

นายสหการณ์ เผยอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าในระหว่างนั้นยังมีการพิจารณาในคดีอื่น ทางตำรวจก็จะแจ้งการอายัดขอตัวผู้ต้องหาไปที่เรือนจำฯ เพื่อให้เรือนจำฯ รู้ว่าถ้าครบวันจะปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือได้รับการพักโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรู้ก่อน ซึ่งทางเรือนจำฯ จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัวผู้ต้องหานำส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในคดีที่ขออายัดตัว ส่วนหากจะมีการขอประกันตัวใดๆ ก็เป็นไปตามกระบวนการ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องพิจารณารายชื่อผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์โครงการพักการลงโทษทั้งในกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษว่าเป็นอย่างไรบ้างนั้น นายสหการณ์ เผยว่า ส่วนเรื่องรายชื่อผู้ต้องขังทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการพักการลงโทษไม่ว่ากรณีปกติ หรือกรณีมีเหตุพิเศษ ทราบว่าได้มีการประชุมไปเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้รับจำนวนรายชื่อผู้ต้องขังหลายพันราย จากทั้งหมด 143 เรือนจำทั่วประเทศ ขณะนี้รายชื่อทั้งหมดอยู่ในชั้นของกรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ จากนั้นจึงจะนำเสนอไปยังชั้น รมว.ยุติธรรม ซึ่งแต่ละขั้นตอนค่อนข้างมีความละเอียด เพราะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ต้องขังให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ควรได้รับ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ตนยังไม่สามารถให้คำยืนยันได้ว่ารายชื่อของนายทักษิณอยู่ในเกณฑ์ผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษหรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอให้ผ่านกระบวนการของคณะกรรมการฯ แต่หากพูดตามหลักการ อดีตนายกรัฐมนตรีถือเป็นผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการเจ็บป่วย และรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 แต่อย่างไรคณะกรรมการฯ ก็จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และถ้ารายชื่อได้รับการรับทราบในชั้นกระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องมีการแจ้งไปยังตำรวจ ปอท. เพื่อให้ดำเนินการเข้าอายัดตัวผู้ต้องหาในสถานที่คุมขังได้

เมื่อถามว่ารายชื่อของผู้ต้องขังทั้งหมดที่จะได้รับสิทธิพักโทษ ทางกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จและส่งไปยังคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อพิจารณา จะเสร็จสิ้นทันภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้หรือไม่ นายสหการณ์ เผยว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะใช้เวลานานมากเพราะจะต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังที่ควรได้รับ ซึ่งหากครบกำหนดโทษในวันใดก็ควรได้รับการปล่อยตัวในวันถัดไปจากวันครบกำหนดคุมขัง ส่วนกรณีที่แวดวงทางการเมืองมีการวิเคราะห์ว่าวันที่ 18 ก.พ. หรือวันที่ 22 ก.พ. จะเป็นวันที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับการปล่อยตัวเพราะผ่านเข้าโครงการพักโทษนั้น โดยปกติแล้ว เรือนจำ/ทัณฑสถาน จะมีการพิจารณาล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษได้ถึง 3 เดือน เพราะเราต้องการให้ผู้ต้องขังไม่เสียประโยชน์ในการที่เขาจะได้พักโทษ และพอครบเวลาคุมขังแล้ว วันถัดไปก็สามารถปล่อยตัวเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษโดยกรมคุมประพฤติจะต้องรับไปดูแลต่อ

ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ผู้ต้องขังระหว่างพักโทษ ตนทราบว่ากรมคุมประพฤติจะมีข้อปฏิบัติหลายประเด็นที่จะต้องประเมิน เช่น ถ้าผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรง และดูแล้วไม่อยู่ในภาวะที่จะไปก่อความผิด หรือเป็นผู้สูงอายุ ที่ดูแล้วไม่สามารถไปสร้างปัญหาได้ ก็อาจเป็นข้อยกเว้นไม่ให้มีการติดกำไล EM แต่ในเรื่องการกำหนดรัศมีการเดินทางของผู้ต้องขัง กรมคุมประพฤติ จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนใด และแน่นอนว่าผู้ต้องขังจะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ในช่วงระหว่างการพักโทษ

ส่วนในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด กรมคุมประพฤติก็จะเป็นผู้กำหนด โดยต้องควบคุมไม่ให้เกิดปัญหา และต้องกำหนดสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องปฏิบัติ ส่วนถ้าหากผู้ต้องขังจะไปออกรายการใด ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ กรมคุมประพฤติต้องไปประเมิน แต่ผู้ต้องขังจะต้องขออนุญาตก่อน เพราะแม้ได้รับการพักโทษ ก็ยังเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล และห้วงเวลาเสร็จสิ้นการพักโทษก็ให้นับไปจนถึงวันที่ผู้ต้องขังจะพ้นโทษ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 จากนั้นได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ 1 ปี และได้รับการคุมขังมาแล้ว 6 เดือน ที่เหลือหลังจากนี้ก็จะเป็นระยะเวลาที่ต้องใช้คำนวณในการพักโทษที่เหลือ.